วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

ดับเบิลเบส (Double Bass)


          ดับเบิลเบส (Double Bass) ในบรรดาเครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายสมัยใหม่ ดับเบิ้ลเบสเป็นเครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวที่อาจจะกล่าวได้ว่ามีความสัมพันธ์กับซอวิโอล (Viol) อย่างแท้จริง โดยสืบทอดมาจาก Violone ซอวิโอลขนาดใหญ่ (Big Viol) ซึ่งเล่นในช่วงเสียง 16 ช่วงเสียง (เสียงของมันจะต่ำกว่าโน้ตที่เขียน 1 ช่วงเสียง) และต่างจากซอวิโอลขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จในการค้นพบตำแหน่งถาวรของมันในวงออร์เคสตร้า
          ถ้าลองพิจารณาถึงซอ Double bass viol ที่ตกทอดมาจากยุคศตวรรษที่ 16 ตอนต้น และเครื่องดนตรีบางชิ้นที่ตกทอดมาหลังจากนั้นเล็กน้อย โดยปกติจะมี 6 สาย มีรูปทรงและการตั้งสายที่หลากหลายต่างกันไป อาจจะมีหรือไม่มีเฟรทตามแบบของซอวิโอล องศาคอของมันมักจะตั้งตรงกว่า ตำแหน่งของหย่องบนไม้แผ่นหน้าก็อยู่ต่ำกว่า ปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงการจับคันชักแบบหงายข้อมือ (Underhand bow grip)
          Violoni เป็นเครื่องดนตรี 6 สายที่ยังคงมีใช้ในช่วงศตวรรษที่ 17 มีบทบาทเคียงคู่กับแบบ 5 สาย โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน เครื่องดนตรีเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีของนักประพันธ์หลายๆ คนในยุคต่อๆ มา Leopold Mozart ได้ประพันธ์ไว้ใน Versuch einer grundlichen Violinschule ของเขา แต่ถูกวิจารณ์ถึงความบางเบาของน้ำเสียงอันเนื่องมาจากขนาดของสายที่บางและอาจจะทำให้ดีดสายผิดได้ แต่มีจุดเด่นคือสามารถเล่นในท่อนยากๆ ได้ง่ายกว่า มีบทประพันธ์ Concerti, Trio และบทประพันธ์เดี่ยวที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีชนิดนี้ได้อย่างไพเราะ
          บทประพันธ์ "Grundliche Anweisung zur Compositionen" ของ Johann Albrechtsberger ที่ประพันธ์ขึ้นในปี 1790 ใช้เครื่องดนตรีที่ตั้งเสียง F - A - D - F# -B แบบที่มีเฟรท และ "Versuch einer Anweisung die Flote traversiere zu spielen" ของ Joseph Quantz ที่ประพันธ์ขึ้นในปี 1752 ซึ่งสนับสนุนเครื่องดนตรีมีเฟรท แต่กลับนิยมเครื่องดนตรีเบสสมัยใหม่ที่มี 3 หรือ 4 สายที่นิยมน้อยกว่า
          เครื่องดนตรีทั้ง 2 ชนิดมีบทบาทที่ดีเคียงคู่กันในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ในเยอรมันและออสเตรีย บางครั้งเบส 4 สายจะตั้งเสียงคู่ 5 ต่ำกว่าเชลโล 1 ขั้นคู่เสียง ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในฝรั่งเศสเช่นกัน โดยปกติแล้วการตั้งสายของเบส 3 สายคือ G’, D, G หรือ A’, D, G แต่ก็ยังมีการตั้งสายแบบอื่นๆ อีกมากเช่นเดียวกัน
          แม้ว่าซอ Violone ที่มีเฟรทยังคงนิยมใช้อยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 และมีใช้ในวงออร์เคสตร้าจนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยเครื่องดนตรีแบบเดียวกันชนิดที่ไม่มีเฟรท เราสามารถค้นหาวิวัฒนาการของเครื่องดนตรีได้จากวงออร์เคสตร้านั่นเอง ก่อนยุคกลางศตวรรษที่ 18 ยังไม่มีการประพันธ์บทเพลงสำหรับบรรเลงเดี่ยว แม้ว่าหลังจากที่เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายได้สถาปนาตัวเองขึ้นจนเป็นแกนหลักในวงออร์เคสตร้าแล้วก็ตาม แต่เครื่องดนตรีที่มีช่วงเสียง 16 ช่วงเสียงยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก เช่น ในประเทศอังกฤษนั้น กว่าจะรู้จักเครื่องดนตรีชนิดนี้ก็ปาเข้าไปถึงยุคทศวรรษที่ 1690
          ในปี 1773 Michel Corrette หนึ่งในครูสอนดนตรีในยุคแรกๆ ได้เขียนตำรา ‘‘Methodes pour apprende a jouer de la Contre-basse a 3, a 4 et a 5 cordes” ขึ้น ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงมากในยุคนั้น แต่สถานะของเครื่องดนตรีตระกูลเบสยังถูกมองว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ยังไม่มีบทบาท “ Unfortunately stayed silent ”


การจับคันชักแบบหงายข้อมือ (Underhand bow grip)
จะสังเกตเห็นรูปร่างของคันชักในสมัยก่อน


          ดับเบิ้ลเบสแทบจะไม่มีระดับเสียงที่แน่นอนของตัวเองจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 เสียงประสานทั้ง 4 ของไวโอลิน 2 ตัว วิโอล่าและเชลโลอย่างละตัวคือส่วนที่ผสมผสานอย่างลงตัวของวงเครื่องสาย ดับเบิ้ลเบสทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ตัวเสริมในวงเครื่องสาย 4 ชิ้นเท่านั้น ถ้าจะใช้ดับเบิ้ลเบสก็เพื่อเล่นแนวเสียงเบสคู่กับเชลโลในช่วงเสียงที่ต่ำกว่า 1 คู่เสียง วิธีนี้ยิ่งทำให้ดับเบิ้ลเบสได้รับความสนใจไม่มากนักและตั้งเสียงแบบนี้เพื่อทำหน้านี้ของมัน
          คีตกวีในยุคคลาสสิกและต้นยุคโรแมนติก บางส่วนยอมรับบทบาทของเบสในแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าเบสค่อยๆ ถูกลดความนิยมลง หรือถูกดัดแปลงให้เล่นง่ายขึ้นเพราะรู้สึกว่าแนวเบสมันท้าทายเกินไปสำหรับพวกเขาที่จะเล่นให้ได้ตามโน้ตที่เขียน จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 จึงพบว่าศักยภาพในการสร้างท่วงทำนองที่ไพเราะของเชลโลก็คือการใช้ดับเบิ้ลเบสเล่นเสียงเบสที่แท้จริงในส่วนของเครื่องสายวงออร์เคสตร้า หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงถือเป็นเรื่องปกติที่คีตกวีให้ความใส่ใจและใช้เชลโลบรรเลงควบคู่ไปกับเบส
          Berlioz เป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนการประนีประนอมอันนี้ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาวงออร์เคสตร้าฝรั่งเศสมักจะใช้เชลโลมากกว่าเบส ในขณะที่บางประเทศโดยเฉพาะในอิตาลีที่นิยมใช้เบสมากกว่าเชลโล ในขณะเดียวกันเบสเริ่มมีความสุขกับบทบาทที่มีอิสระมากขึ้นในดนตรีแชมเบอร์มิวสิค ก่อนที่ Contrabasso จะเข้ามาแพร่หลาย เช่น เบสอาจจะถูกใช้เพื่อเพิ่มความหนักแน่นให้กับวงเครื่องเป่า บทประพันธ์ Serenade for 13 wind instruments (K361) ของโมสาร์ทถือเป็นชื่อที่ผิดมากๆ เพราะมี Contrabasso ที่เล่น Pizzicato อย่างชัดเจนในช่วงหนึ่ง โมสาร์ทยังได้เขียน Divertimenti หรับฮอร์น 2 ตัว ไวโอลิน 2 คัน วิโอล่าและ Basso ขึ้นอีกหลายบท รวมถึงงานประพันธ์ Musical joke ในปี 1787 ที่มีชื่อเสียง ภาพประกอบของงานชิ้นนี้ที่ตีพิมพ์ในครั้งแรก ได้รวมตัวอย่างงาน Solo กลุ่มที่คล้ายคลึงกับงาน Serenata notturna (ปี 1776) ของเขา แสดงให้เห็นว่า Basso ในที่นี้ก็คือดับเบิ้ลเบสและไม่ใช่กับเชลโลและเบสโดยทั่วไป
          ดับเบิ้ลเบสยังมีส่วนร่วมในงานประพันธ์วง Ensemble ประเภทต่างๆ ของไฮเดิ้น งานประพันธ์ที่สำคัญในยุคต่อๆ มาที่ใช้ดับเบิ้ลเบสยังรวมถึงงานประพันธ์สำหรับวง Septet (ปี 1880) ของบีโธเฟน และ Octet ของชูเบิร์ท (ปี 1823) และ Trout Quintet (ปี 1819) ผลงานในช่วงปลายๆ ก็มี Quintet Op. 77 (ปี1875) ของ Dvorak เเต่บทประพันธ์ที่นำเอาดับเบิ้ลเบสไปไว้ในวงเครื่องสายแชมเบอร์มิวสิคล้วนๆ แทบจะไม่มีเลย


เครื่องดนตรี Violone


ดับเบิ้ลเบสกับงานบรรเลงเดี่ยว

          นับจากไฮเดิ้นจนถึง Peter Maxwell Davies เป็นต้นมา ยังมีคีตกวีอีกหลายคนที่ใช้ดับเบิ้ลเบสอย่างจริงจังในฐานะเครื่องดนตรีเดี่ยว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินกว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึง น่าเสียดายที่ว่าในปัจจุบันไม่มีประพันธ์ไฮเดิ้นคอนแชร์โตของไฮเดิ้นหลงเหลืออยู่เลย แต่ยังมีงานเดี่ยวจากงานซิมโฟนี่หมายเลข 6-8 ทั้ง 3 ชิ้นของเขา คือ " Le matin " (ประพันธ์ขึ้นในราวๆ ปี 1761) " Le midi " (ปี 1761) " Le soir " (ประพันธ์ขึ้นในราวๆ ปี 1761) และงาน Variation ในท่อนจบของซิมโฟนี่ หมายเลข 31 (ปี 1765) และหมายเลข 72 (ปี 1763) ส่วนโมสาร์ทได้ใช้ Bass Obbligato ในงานร้องคอนเสิร์ต Per questa bella mano (K612) และยังมีงานคอนแชร์โตอีกหลายบทของคีตกวีร่วมสมัยกับเขาคือ Karl Ditters von Dittersdorf, Johann Baptist Vanhal และ Giovanni Battista Cimadoro
          งานเดี่ยวในงานประพันธ์ออร์เคสตร้ามักจะใช้ดับเบิ้ลเบสเพื่อแสดงถึงสิ่งที่แปลกประหลาด เช่น ' The Elephant ’ จากบทประพันธ์ " Carnival of the Animals " (ปี 1886) ผลงานที่มีชื่อเสียงของ Saint-Saens บางส่วนจากซิมโฟนี่หมายเลข 1 ของ Gustav Mahler และบัลเลต์ " Pulcinella " (ปี1920) ของ Stravinsky งานเดี่ยวจาก " Lieutenant Kije " (ปี 1934) ของ Prokofiev ที่ใช้เบสในท่วงทำนองที่สนุกสนานต่างจากงานชวนหัวที่นิยมในยุคนั้น


Joseph Haydn (1732-1809)


นักดับเบิ้ลเบสที่มีชื่อเสียง

Domenico Dragonetti
          เขาได้ประพันธ์งานบรรเลงเดี่ยวคอนเสิร์ทสำหรับดับเบิ้ลเบสไว้เป็นจำนวนมากและยังเป็นนักเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้อีกด้วย นักดับเบิ้ลเบสที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 19 มีอยู่ 2 คนคือ Dragonetti ชาวอิตาลี ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น " Paganini " ของดับเบิ้ลเบส เขาเกิดเมื่อปี 1763 ที่เวนิส แต่ได้ไปตั้งรกรากที่ลอนดอน เขาออกแสดงต่อสาธารณชนในช่วงทศวรรษที่ 1840 งานคอนแชร์โตของเขาเขียนขึ้นสำหรับเครื่องดนตรี 3 สาย ซึ่งเล่นยากมหากาฬถึงแม้ว่าจะเล่นด้วยดับเบิ้ลเบสยุคปัจจุบันก็ตาม


นักดับเบิ้ลเบสที่มีชื่อเสียงชาวเวนิส
Domenico Dragonetti (1763-1846)



          Dragonetti สะสมดับเบิ้ลเบสชั้นเยี่ยมไว้หลายตัว ต่อมาเขาได้มอบให้กับเพื่อนๆ ไปจนเกือบหมดตามความประสงค์ของเขาเอง ดับเบิ้ลเบสที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาเป็นผลงานของ Gasparo da Salo ซึ่งนักบวช Benedictine Nuns แห่งโบสถ์ Convent of San Pietro ที่วิเซนซ่า (Vicenza) ได้มอบให้กับเขาเป็นของขวัญ หลังจากที่เขาเสียชีวิตลงมันได้ถูกส่งกลับมายังโบสถ์ Chapel of St. Marco ที่ Venice ซึ่งเป็นที่แรกๆ ที่เขาเริ่มต้นอาชีพการเป็นนักดนตรี

Giovanni Bottesini
          นักดับเบิ้ลเบสผู้ยิ่งใหญ่คนที่ 2 ก็คือ Bottesini เขาเป็นชาว Crema โดยกำเนิดและจบการศึกษาจากสถาบันการดนตรี Milan Conservatoire เขาออกแสดงคอนเสิร์ทอย่างต่อเนื่องในยุโรป รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา และออกแสดงในคราวที่ Verdi กำกับอุปรากรเรื่อง Aida รอบปฐมทัศน์ที่กรุงไคโร ประเทศอิยิปต์เมื่อปี 1871 ตามคำขอร้องของ Verdi เอง


Giovanni Bottesini (1821-1889)


          Bottesini เป็นคีตกวีที่สร้างสรรค์ผลงานไว้จำนวนมาก เขาเขียนทั้งอุปรากร, ซิมโฟนี่, และแชมเบอร์มิวสิคเช่นเดียวกับคอนแชร์โตและงานเดี่ยวสำหรับดับเบิ้ลเบส ส่วนในฐานะอาจารย์นั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1860 เขาได้ตีพิมพ์ตำราชื่อ " Metedo completo per contrabasso " ซึ่งถือเป็นตำราเล่มแรกที่กล่าวถึงการแสดงเดี่ยวและบทเพลงออร์เคสตร้าสำหรับดับเบิ้ลเบสอย่างจริงจัง

Ex-Bottesini ปี 1716
          ผลงานของ Carlo Antonio Testore ช่างทำไวโอลินชาวมิลาน Bottesini ซื้อดับเบิ้ลเบสตัวนี้หลังจากที่มันถูกค้นพบที่โรงละครหุ่นกระบอกแห่งหนึ่ง ซึ่งมันถูกเก็บไว้ในห้องที่มืดและสกปรกนับตั้งแต่การเสียชีวิตของ Fiando นักดับเบิ้ลเบสชาวมิลานที่เป็นเจ้าของคนเดิม เมื่อ Bottesini เขาซื้อมานั้นมันอยู่ในสภาพที่แย่มาก แต่เมื่อทำความสะอาดแล้วมันได้กลายเป็นเครื่องดนตรีคู่ใจของเขาไปตลอดชั่วชีวิตเลยทีเดียว
          Carlo Antonio Testore ทำเครื่องดนตรีชิ้นนี้ในขณะที่เขาอายุได้ 23 ปี แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสกุลช่างทำไวโอลินชาวมิลานในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ได้อย่างชัดเจน เป็นช่วงเวลาที่สภาพความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจของช่างทำไวโอลินกำลังถดถอยที่สุด Carlo Antonio Testore ทำงานอยู่จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1765 ซึ่งเขามีอายุได้ 78 ปีพอดี สร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นจำนวนมากกว่า Carlo Giuseppe Testore (เกิดในราวๆ ปี1660-1716) ผู้เป็นบิดาเสียอีก ในปีต่อๆ มาสไตล์ผลงานของเขาค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปมาก ผสมผสานระหว่างทั้งสไตล์บิดาของเขาและช่างในตระกูล Grancino ปัจจุบันดับเบิ้ลเบสตัวนี้เป็นของ Gary Karr นักดับเบิ้ลเบสที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน

Serge Koussevitzky
          ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะวาทยกรของวง Boston Symphony Orchestra แต่เขาศึกษาด้านดับเบิ้ลเบสมาจากสถาบันการดนตรี Moscow Conservatoire ในช่วงที่เขาเริ่มการเป็นนักเดี่ยวดับเบิ้ลเบสใหม่ๆ นั้นเขาได้รับฉายาว่าเป็น " Bottesini " แห่งรัสเซีย หรือ " Russian Bottesini " เขาเขียนผลงานสำหรับดับเบิ้ลเบสไว้หลายชิ้น ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Concerto Op. 3 ซึ่งเขานำออกแสดงครั้งแรกด้วยตัวเองในปี 1905
          ส่วนนักดับเบิ้ลเบสคนอื่นๆ ซึ่งทำให้ดับเบิ้ลเบสเป็นที่รู้จัก ได้แก่ นักดับเบิ้ลเบสชาวอังกฤษ เช่น Eugene Cruft, Rodney Slatford และ Duncan Mctier ผู้ซึ่ง Maxwell Davies ได้อุทิศคอนแชร์โตให้กับเขา


ดับเบิ้ลเบสสมัยใหม่
          ดับเบิ้ลเบสมัยใหม่ยังคงใช้การตั้งเสียงคู่ 4 ตามแบบซอวิโอลมากกว่าการตั้งแบบคู่ 5 เนื่องมาจากข้อจำกัดในเรื่องการเหยียดฝ่ามือซ้าย การตั้งสายทั้ง 4 ในยุคปัจจุบันคือ E - A - D – G ส่วนดับเบิ้ลเบสสมัยใหม่มักจะตั้งเสียงสายที่ 5 เป็น C หรือ B มา ซึ่งสาย C ต่ำนั้นมีคีตกวีหลายๆ คนที่นิยมใช้ตั้งแต่ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษเป็นต้นมา และได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้สายที่ 5 นั้นให้ความพึงพอใจมากกว่าการปรับลดสาย E ลงมา
          สำหรับงานบรรเลงเดี่ยวนั้น นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมานิยมตั้งสายให้สูงขึ้น 1 เสียง ทำให้ดับเบิ้ลเบสเปลี่ยนระดับเสียงเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงคู่ประสาน แต่เดิมนั้นโน้ตของดับเบิ้ลเบสนิยมเขียนให้สูงกว่า 1 ขั้นคู่เสียงของเสียงตัวมันเอง ส่วนโน้ตบรรเลงเดี่ยวจะเขียนให้สูงกว่าเป็นคู่ 9
          ดับเบิ้ลเบสยุคแรกๆ จะตั้งเสียงด้วยลูกบิดที่ทำจากไม้เช่นเดียวกับเครื่องสายอื่นๆ ในตระกูลไวโอลิน และเปลี่ยนมาใช้เฟืองไม้แทนในช่วงศตวรรษที่ 17 แต่ในปัจจุบันใช้เฟืองที่ทำมาจากโลหะแทน
          แม้กระทั่งในปัจจุบัน การออกแบบดับเบิ้ลเบสอาจจะมีหน้าตาที่แตกต่างกันมาก รวมถึงเรื่องของขนาด ซึ่งดับเบิ้ลเบสที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดถึงเมตรครึ่งและมีความสูง 5 ฟุต ขนาดที่เล็กที่สุดมีขนาด 25-30 ซม. (10-12 นิ้ว) หรือน้อยกว่านั้น ดับเบิ้ลเบสส่วนใหญ่จะมีแผ่นหลังที่แบนราบแบบซอวิโอล (Viol) โดยรักษาเอกลักษณ์ของซอวิโอลคือช่วงไหล่ที่ลาดลง แต่ก็ยังพบดับเบิ้ลเบสที่รูปร่างคล้ายไวโอลินขนาดใหญ่ โรงเรียนสอนดนตรีบางแห่งยังคงรักษาการจับคันชักแบบหงายฝ่ามือไว้ตามแบบเดิม
          ตำรา " Neueste Methode des Contrabass-Spiels " ของ Franz Simandl ที่ตีพิมพ์ในปี 1874 ได้กลายเป็นหลักในการพัฒนาเทคนิคการเล่นดับเบิ้ลเบส และนับจากช่วงปลายยุคโรแมนติกเป็นต้นมา คีตกวีไม่ต้องรู้สึกเสียใจอีกต่อไปจากความคาดหวังที่จะใช้พื้นที่ๆ ของสายด้านล่าง ทำให้ในยุคต่อๆ มานิยมออกแบบโดยลดช่วงไหล่ดับเบิ้ลเบสให้ลาดลง ช่วยให้เล่นโพสิชั่นสูงๆ ได้ถนัดขึ้น นักดับเบิ้ลเบสในยุคปัจจุบันได้แสดงให้เห็นแล้วว่าดับเบิ้ลเบสเป็นเครื่องดนตรีเอนกประสงค์โดยการใช้ดับเบิ้ลเบสขนาดเล็ก ในอาณาเขตหนึ่งที่พวกมันได้มีบทบาทอยู่ไม่น้อย นั่นก็คือดนตรีแจ๊ส


ดับเบิ้ลเบสกับดนตรีแจ๊ส
          ในศตวรรษที่ 18 ดับเบิ้ลเบสมักจะถูกใช้ในฐานะเครื่องดนตรี 16 ช่วงเสียงในวงเครื่องลม แต่ในปัจจุบันดับเบิ้ลเบสได้รับการยอมรับในฐานะของวงออร์เคสตร้าเครื่องลมและวงดนตรีแจ๊ส วงดนตรีแจ๊สมาตรฐาน 17 ชิ้นในยุคทศวรรษที่ 1930 หรือ 1940 มักจะบรรจุดับเบิ้ลเบสเอาไว้ในวง นอกจากนั้นยังมีแซ็กโซโฟน เปียโน กีตาร์ เบส และกลอง ปัจจุบันดับเบิ้ลเบสมักจะบรรเลงด้วยเทคนิค Pizzicato แต่บางครั้งจะใช้เทคนิคการตบเบส ซึ่งสายเบสจะไปกระทบกับฟิงเกอร์บอร์ด และขยับจากการเล่นทำนองเพียงอย่างเดียวไปเป็นนักเดี่ยวดับเบิ้ลเบสของดนตรีแจ๊สตามแบบของมันเอง
          นักดับเบิ้ลเบสแจ๊สในยุคแรกๆ เช่น John Lindsay และ ‘Pop’ Foster หรือในชื่อจริงคือ (Murphy Foster) ทั้งคู่แสดงอยู่ในวงของ Louis Armstrong ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ส่วน Walter Page และ Charles Mingus คือนักดับเบิ้ลเบสที่โดดเด่นในทศวรรษที่ 1940 และนักดับเบิ้ลเบสรุ่นหลังๆ เช่น Ron Carter ประสบความสำร็จในการใช้ Piccolo bass ขนาดเล็ก และยังได้เขียนตำราการเล่นดับเบิ้ลเบสในแบบแจ๊สขึ้นอีกด้วย


นักดับเบิ้ลเบสแจ๊ส
Charles Mingus (1922-1979



Ary Karr


ที่มาภาพและบทความ :http://www.pantown.com/board.php?id=13220&area=4&name=board2&topic=85&action=view

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น