วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

6. ยุคอิมเพรสชั่นนิสติค (The Impressionistic)


          ในตอนปลายของศตวรรษที่ 19 จนถึงตอนต้นของศตวรรษที่ 20 (1890 - 1910) ซึ่งอยู่ในช่วงของยุคโรแมนติกนี้ มีดนตรีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยเดอบูสซี ผู้ประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศส ดนตรีอิมเพรสชั่นนิสติก ก่อให้เกิดความประทับใจ และแตกต่าง

          จากดนตรีโรแมนติกซึ่งก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ลักษณะทั่วๆไปของดนตรีอิมเพรสชั่นนิสติกนั้นเต็มไปด้วยจินตนาการที่เฟื่องฝัน อารมณ์ที่ล่องลอยอย่างสงบ และความนิ่มนวลละมุนละไมในลีลา ผู้ฟังจะรู้สึกเสมือนว่าได้สัมผัสกับบรรยากาศตอนรุ่งสางในกลุ่มหมอกที่มีแสงแดดอ่อนๆ สลัวๆ ถ้าจะกล่าวถึงในด้านเทคนิค

          ชื่ออิมเพรสชั่นนิสติค หรือ อิมเพรสชั่นนิซึมนั้น เป็นชื่อยุคของศิลปะการวาดภาพที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยมี Monet, Manet และ Renoir เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเป็นศิลปะการวาดภาพที่ประกอบด้วยการแต้มแต่งสีเป็นจุดๆ มิใช่เป็นการระบายสีทั่วๆ ไป แต่ผลที่ได้ก็เป็นรูปลักษณะของคนหรือภาพวิวได้ ทางดนตรีได้นำชื่อนี้มาใช้ ผู้ประพันธ์เพลงในแนวนี้นอกไปจากเดอบูสซีแล้วยังมี ราเวล ดูคาส เดลิอุส สตราวินสกี และโชนเบิร์ก (ผลงานระยะแรก) เป็นต้น





          ดนตรีอิมเพรสชั่นนิสติกได้เปลี่ยนแปลงบันไดเสียงเสียใหม่แทนที่จะเป็นแบบ ไดอะโทนิค (Diatonic) ซึ่งมี 7 เสียงอย่างเพลงทั่วไป กลับเป็นบันไดเสียงที่มี 6 เสียง โดยการใช้ลักษณะของบันไดเสียงแบบเสียงเต็ม (ซึ่งระยะห่างหนึ่งเสียงเต็มตลอด) เรียกว่า “โฮลโทนสเกล” (Whole – tone Scale) ทำให้เกิดลักษณะของเพลงอีกแบบหนึ่งขึ้น เนื่องจากลักษณะของบันไดเสียงแบบเสียงเต็มนี้เองทำให้เพลงในยุคนี้มีลักษณะ ลึกลับ ไม่กระจ่างชัด เพราะคอร์ดที่ใช้จะเป็นลักษณะของอ๊อกเมนเต็ด (Augmented)

          นอกจากนี้คอร์ดทุกคอร์ดยังเคลื่อนไปเป็นคู่ขนานที่เรียกว่า “Gliding Chords” และส่วนใหญ่ของบทเพลงจะใช้ลีลาที่เรียบๆ และนุ่มนวล เนื่องจากลักษณะของบันไดเสียงแบบเสียงเต็มนี้เองบางครั้งทำให้เพลงในสมัยนี้มีลักษณะลึกลับไม่กระจ่างชัด ลักษณะของความรู้สึกที่ได้ จากเพลงประเภทนี้จะเป็นลักษณะของความรู้สึก “คล้าย ๆ ว่าจะเป็น…” หรือ “คล้ายๆ ว่าจะเหมือน…” มากกว่าจะเป็นความรู้สึกที่แน่ชัดลงไปว่าเป็นอะไร (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :174)




          เดอบุสชี ได้กล่าวถึงลักษณะดนตรีสไตล์อิมเพรสชั่นนิสติกไว้ว่า…“สำหรับดนตรีนั้น ข้าพเจ้าใคร่จะให้มีอิสระ ปราศจากขอบเขตใดๆ เพราะในสไตล์นี้ดนตรีก้าวไปไกลกว่าศิลปะแขนงอื่นๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ มาบังคับให้ดนตรีต้องจำลองธรรมชาติออกมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ดนตรีนี้แหละจะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับจินตนาการที่เร้นลับมหัศจรรย์บางอย่างออกมาเอง”


ประวัติผู้ประพันธ์เพลง

1. โคล้ด-อะชิล เดอบูซี (Claude-Achille Debussy ค.ศ.1862-1918)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศส เกิดที่ St.Germain – en – Laye เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1862 มีชีวิตอยู่ในปารีสเป็นส่วนใหญ่ เขาเริ่มเรียนเปียโนกับมาดาม Maute de Fleurville ลูกศิษย์ของโชแปง (Frederic Chopin) ต่อมาได้เรียนดนตรีในสถาบันดนตรีปารีส เขาเป็นคนที่มีความสงสัยในกฎเกณฑ์ทฤษฎีต่างๆ ที่สถาบันสอนให้อยู่เสมอ เวลาทำแบบฝึกหัดก็มักฝ่าฝืนกฎทุกๆ ครั้ง เดอบุสซีใช้การประสานเสียงที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเองจากการที่เดอบุสซีมีความประทับใจในสิ่งต่างๆ เขาสามารถนำเข้ามาใช้กับดนตรีเป็นความประทับใจที่เศร้าซึม เหมือนฝันและเต็มไปด้วยบรรยากาศต่างๆ


ผลงานที่มีชื่อเสียง
- Nocturnes : Holidays 1899 เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นจากความประทับใจในเมฆ
- Sirens เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นจากความประทับใจนกในนิยายกรีก
 - Clair de lune (Moon light) 1905 เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นจากความประทับใจในแสงจันทร์
- The sea (la mer)1905 เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นจากความประทับใจในทะเลเดี๋ยวราบสงบหรือพริ้วเป็นระลอก ไม่ได้เขียนเพื่อบรรยายภาพทะเล





2. มอริส ราเวล (Maurice Ravel,1875-1937)




          เกิดวันที่ 7 มีนาคม 1875 ที่ Ciboure ใกล้กับ St.Jean de Luz ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเกือบติดเขตแดนสเปญ เริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เรียน การประสานเสียงอายุ 11 ขวบและเข้าศึกษาในสถาบันดนตรีแห่งปารีส (Paris Conservatory) อายุ 14 ขวบเป็นเพื่อนกับเดอบุสซี ราเวลมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับเดอบุสซีอยู่บ่อยๆ แต่อันที่จริงแล้วดนตรีของทั้งสองต่างกันมากในสิ่งที่เรียกว่า “สไตล์” ถึงแม้ว่าราเวลจะถูกจัดว่าเป็นคีตกวีในสมัยอิมเพรสชั่นคนหนึ่ง แต่ดนตรีของเขามีสีสันไปทางคลาสสิกมากกว่าอย่างไรก็ตามราเวลก็มีชีวิตอยู่ระหว่างปลายสมัยดนตรีอิมเพรสชั่นกำลังเติบโตเต็มที่คนหนึ่ง

          ชีวิตส่วนตัวของราเวลเขาไม่เคยแต่งงานเลยทั้งๆ ที่พบปะคุ้นเคยกับสตรีมากมายเช่นเดียวกับเกิร์ชวินซึ่งก็ไม่ได้แต่งงานเหมือนกัน ราเวลเป็นคนร่างเล็ก แต่งตัวดีอย่างไม่มีที่ติแต่ชีวิตของเขาไม่ฟู่ฟ่า มีนิสัยชอบสันโดษอย่างมาก สำหรับเขา “ความสำเร็จ” กับ “อาชีพ” ดูเหมือนว่าจะคนละอย่างกัน ยิ่งประชาชนเพิ่มความนิยมชมชอบเขามากเท่าไรแต่เขากลับทำตัวธรรมดามากขึ้น เขาสร้างดนตรีเพราะต้องทำ ไม่เคยสร้างดนตรีเพราะต้องการความก้าวหน้าหรือเพื่อหาเงิน ไม่มีความเป็นนักธุรกิจเลยแม้แต่น้อยไม่ต้องการแม้แต่จะหาลูกศิษย์สอนเพื่อจะได้เงิน เขามีรายได้จากงานประพันธ์และการแสดงดนตรีแค่พอมีชีวิตอยู่อย่างสบายๆ พอประมาณเท่านั้น ลักษณะเด่นของราเวล คือ การเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตรา




ผลงานที่มีชื่อเสียง
- Pavane for a Dead Princess 1899 ดนตรีหวานซึ้งราบเรียบนุ่มนวลชวนฟังให้จิตใจสงบ
- String Quartet 1903, Introduction and Allegro 1905
- Daphnis et Chloe : Suite No. 2 1909-12, 
- The Waltz 1920,
- Bolero 1928 ทำนองแบบสเปนดนตรีเริ่มจากเบาที่สุด แต่ละท่อนไม่ยาวเกินไป ใช้สีสันของเสียงจากการเปลี่ยนเครื่องดนตรี ให้ความรู้สึกค่อนข้างเย้ายวนและร้อนแรงในช่วงท้าย



ที่มา : http://student.nu.ac.th/pick_ed/LESSON8.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น