วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

10. แตรวง และแตรวงชาวบ้าน (ฺBrass Band)


          วงแตรวงชาวบ้าน หรือแตรวง มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม


แตรวง

          แตรวง พัฒนามาจากวงดนตรีเครื่องเป่า (Wind and Brass Ensemble) เป็นวงดนตรีที่ใช้ในยุโรปและสหรัฐอเมริกามาแต่โบราณ ในกิจการของกองทัพ การฝึกแถวการเดินสวนสนามในพิธีเกียรติยศ และการประโคมในพิธีเฉลิมฉลองของรัฐหรือราชสำนักใช้เครื่องดนตรีตระกูลเครื่องเป่าทองเหลืองและลมไม้ (Brass & Woodwind musical instruments) ในสมัยโบราณเรียกรวมๆ ว่า บราสแบนด์ (Brass Band) เนื่องจากบทบาทในการดำเนินทำนองเป็นของกลุ่มเครื่องดนตรีทองเหลืองมากกว่าและนิยมเล่นกลางแจ้ง ให้เสียงที่ดังเจิดจ้าชัดเจนสามารถเดินเล่นและนั่งเล่นเป็นกลุ่มได้วงเครื่องเป่า ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นมิลิทารีแบนด์ (Military Band) มีจุดประสงค์ในการใช้งาน คือ การเล่นเพลงเดินเท้าเข้าสู่สนามรบของทหาร หรือใช้ประกอบการสวนสนามของทหารเพื่อปลุกใจในยามสงครามหรือประกอบพิธีต่างๆ ของทหารโดยเฉพาะ

          สมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช มีฝรั่งนำแตรมาทูลเกล้าฯถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พบในบันทึกว่ามีแตรวิลันดาที่ใช้ในพระราชพิธีของราชสำนัก ซึ่งเชื่อว่าเป็นแตรฝรั่งที่ชาวฮอลันดานำเข้ามาเป็นชาติแรกในกรุงสยาม ต่อมาในสมัยรัชกาลพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ริเริ่มมีการฝึกทหารแบบอังกฤษที่วังหน้าของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและที่วังหลวง ครูผู้ฝึกแถวคือร้อยเอกน็อกซ์ (Knox) และร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) ชาวอังกฤษ ตามลำดับ ทั้งสองท่านได้นำวงดุริยางค์เครื่องเป่าขนาดเล็ก ที่เรียก Brass Band ของยุโรปมาบรรเลงคำนับถวายเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯออกมหาสมาคม พอถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบันทึกชัดเจนว่าแตรวงของทหารเรือ เรียกว่า แตรวงทหารมะรีน สมัยนี้มีครูฝรั่งมาสอนและควบคุมแตรวงอยู่ ๓ ท่าน คือ ครูเวสเตอร์เฟล ชาวเยอรมัน ครูเฮวู้ด เซน ชาวฮอลันดา และครูจาคอบ ไฟท์ (Jakob Feit) ชาวเยอรมัน จนแตรวงทหารมหาดเล็กถือกำเนิดในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นอดิศรอุดมเดชเป็นผู้บังคับการและก่อตั้งแตรวงทหารหน้าขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งต่อมาแตรวงทหารนี้ได้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นกองดุริยางค์ทหารบกในปัจจุบัน (เรียบเรียงโดย อานันท์ นาคคง)

          “แตรวง” เชื่อกันว่ามีใช้กันมาก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นคำที่พบในหนังสือสาสน์สมเด็จ ซึ่งสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนจดหมายโต้ตอบกันด้วย ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงบัญญัติ คำว่า “ดุริยางค์” ขึ้น ดังนั้น วงดนตรีทั้งหลายจึงหันมาใช้คำว่า “ดุริยางค์” แทนคำว่า ดนตรี อาทิ วงจุลดุริยางค์ วงดุริยางค์สากล วงดุริยางค์ไทย เป็นต้น วงดุริยางค์ใช้ในความหมายของการนั่งบรรเลง เช่น วงดุริยางค์กรมศิลปากร วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ เป็นต้น สำหรับวงโยธวาทิตนั้น (Military Band) เป็นศัพท์บัญญัติที่ราชบัณฑิตยสถาน สร้างขึ้นในยุคหลัง หมายถึง “วงดนตรีที่บรรเลงโดยทหาร” ซึ่งมาจากคำว่า “โยธา” แปลว่า ทหาร รวมกับคำว่า “วาทิต” แปลว่า “ดนตรีหรือผู้บรรเลงดนตรี” นิยมใช้กับดนตรีที่ใช้ในการสวนสนามของกองดุริยางค์ทหารกองลูกเสือ นอกจากนั้น วงโยธวาทิตได้แพร่เข้าไปสู่ระบบการศึกษา เข้าไปอยู่ในโรงเรียนทั่วประเทศทั้งระดับประถมศึกษาและ มัธยมศึกษา วงโยธวาทิตมีหน้าที่นำแถวนักกีฬา นำแถวลูกเสือ และใช้ในการนั่งบรรเลงเพลงไทยตามแบบแผนที่สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมกระนครสวรรค์วรพินิต ทรงปรับปรุงแนวทางขึ้นเพื่อใช้กับโยธวาทิต ของกองทัพบกและกองทัพเรือในอดีต มีการเรียบเรียงสกอร์เพลงไทยสำหรับวงโยธวาทิตจำนวนมาก ใช้วัตถุดิบจาก เพลงปี่พาทย์สำนักพาทยโกศลและเพลงพระนิพนธ์ของพระองค์เอง ผู้เรียบเรียงเพลงไทยสำหรับโยธวาทิตที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมกระนครสวรรค์วรพินิต พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ ร้อยเอกนพ ศรีเพชรดี และพันโทวิชิต โห้ไทย เป็นต้น





          กลุ่มเครื่องดนตรีที่ประกอบขึ้นเป็นโยธวาทิตและแตรวงของไทย ประกอบด้วย เครื่องดนตรีกลุ่มใหญ่ๆ ๒ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มเครื่องเป่า แบ่งย่อยเป็นเครื่องลมไม้และเครื่องทองเหลือง (Wind & Brass Instruments)
๒. กลุ่มเครื่องจังหวะ เครื่องตี-เครื่องกระทบ (Percussions Instruments)

          ลักษณะของการผสมวงเป็นไปอย่างหลวมๆ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมีแบบแผนที่ตายตัวเหมือนกับวงดนตรีไทยทั่วไป หรือเทียบกับวงดนตรีในประเพณีนิยมของยุโรปคลาสสิค คนไทยนิยมใช้เสียงแตรวงชาวบ้านประโคมแห่ในงานพิธีกรรมต่างๆ ที่มีชาวบ้านมาชุมนุมกัน ทั้งงานรื่นเริงบันเทิงใจ อาทิ งานบวชนาค ทำขวัญ งานแห่ขันหมาก งานมงคลสมรส งานสมโภชวันสำคัญทางพุทธศาสนา งานศพ งานมหรสพ การโหมโรงหน้าโรงละคร โหมโรงหน้าโรงภาพยนตร์ที่เรียกว่า “หนังเงียบ” ไปจนถึงงานประโคมข่าวป่าวประกาศกิจกรรมการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ แตรวงชาวบ้านมีอิสระในการเลือกบทเพลงมาใช้ในการแสดง ในการออกงานพิธี และไม่มีสูตรตายตัวว่าจะต้องมีลำดับเพลงอย่างไร เพลงที่ใช้เล่นบรรเลงตามงานของแตรวงชาวบ้านส่วนหนึ่งเป็นเพลงที่จำมาจากแตรวงของทหาร มีทั้งเพลงฝรั่งเพลงไทย ใช้จังหวะเดินแถวอย่างทหารที่เรียกว่ามาร์ช (March) ตีด้วยกลองใหญ่ให้จังหวะ เรียกชื่อเพลงว่า มาร์ชต่างๆ อาทิ มาร์ชดำรง มาร์ชภานุรังษี มาร์ชกรมหลวงประจักษ์ มาร์ชลาวดวงเดือน และยุคสมัยรัชกาลที่ ๗ มีการนำภาพยนตร์เงียบเข้ามาฉายในประเทศไทย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนดูมาซื้อบัตรเข้าดูภาพยนตร์ ก็จะนิยมใช้แตรแห่นำ เมื่อถึงช่วงภาพยนตร์ใกล้ฉาย ก็จะไปตั้งวงเล่นโหมโรงเรียกร้องความสนใจจากคนดู และเมื่อถึงเวลาฉายภาพยนตร์ก็จะย้ายเข้าไปบรรเลงสดๆหน้าจอ คิดด้นเพลงไปตามภาพเคลื่อนไหวของหนัง เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในอดีต ที่ได้มีประสบการณ์ใหม่กับภาพยนตร์เงียบอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อเกิดเพลงรำวงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แตรวงชาวบ้านก็นำเพลงรำวงสนุกๆ ที่นิยมร้องเล่นกันไปเป่าในกระบวนแห่ด้วย จนกระทั่งยุคเพลงลูกทุ่งเพลงลูกกรุง หรือเพลงไทยสากลในปัจจุบัน ถ้าเพลงไหนเป็นที่นิยมก็มักจะถูกนำไปบรรเลงรับใช้สังคมไทยเสมอมา

          คณะแตรวงชาวบ้านที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน อาทิ คณะถนอมศิลป์ ปทุมธานี คณะ ส.จุฬาลักษณ์ สมุทรสงคราม คณะวรรณธนวาทิต นนทบุรี คณะกุหลาบโชว์ พระนครศรีอยุธยา คณะครูดำมิวสิค พระนครศรีอยุธยา คณะเพชรพระนคร พระนครศรีอยุธยา คณะเอ็กซเรย์ ราชบุรี คณะสุนิศา ท่ามะขาม ราชบุรี คณะมณฑาสวรรค์ ดำเนินสะดวก ราชบุรี คณะสมหวัง บ้านโป่ง ราชบุรี คณะ ส.แก้วบูชา นครปฐม คณะแตรวงรักชาติเมืองสุพรรณ คณะลูกทุ่งเมืองทอง นนทบุรี คณะสุวรรณศิลป์ ศาลายา นครปฐม ฯลฯ บุคลากรที่ถือเป็นภูมิปัญญาทางแตรวงชาวบ้านในปัจจุบัน อาทิ พันโทวิชิต โห้ไทย ศิลปินแห่งชาติ ครูสมัคร กรานต์แหยม นนทบุรี ครูหมู เมืองนนท์ ครูสมาน กันเกตุ ราชบุรี ครูวิรัช แสงจันทร์ สมุทรสงคราม





          แตรวงชาวบ้าน ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป ความนิยมในการประโคมแห่ลดลงและมีกิจกรรมดนตรีเพื่อสังคมชาวบ้านแบบอื่นๆ มาใช้ทดแทน แต่ก็มิใช่ว่าแตรวงชาวบ้านจะเงียบเสียงไปเสียเลยทีเดียว ในหลายท้องถิ่นยังคงพึ่งพาดนตรีแตรวงเพื่อความสนุกสนานบันเทิงในชุมชน ยังคงมีชาวบ้านที่สนใจฝึกฝนแตรวงแบบชาวบ้านสืบทอดวิธีการบรรเลงด้วยลีลาของชาวบ้านกันอยู่ แม้ว่าทางหน่วยงานราชการและสถานศึกษาสมัยใหม่จะหันไปนิยมการส่งเสริมวงโยธวาทิต ที่มีระเบียบแบบแผนมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติมากกว่าแล้วก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การรวบรวมและบันทึกหลักฐานความรู้เกี่ยวกับแตรวงชาวบ้านเอาไว้อย่างเป็นรูปธรรม ยังไม่มีความชัดเจนพอและไม่ได้รับการเอาใจใส่จากสถาบันการดนตรีใดๆ อย่างจริงจัง แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรู้ทางเครื่องเป่าตะวันตกที่มุ่งสร้างมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล ก็ละทิ้งรากฐานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมแตรวงชาวบ้านกับการศึกษาในระบบเสียมาก ความหวังในการสืบทอดแตรวงยังคงลางเลือนหากมุ่งฝากภารกิจเอาไว้ที่ภาครัฐและสถาบันการศึกษา คงเป็นเรื่องทางเลือกและการตัดสินใจของชุมชนที่จะเล็งเห็นคุณค่าของแตรวงชาวบ้าน กับการอยู่ร่วมกับสังคมไทยในอนาคตได้อย่างไร



ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม https://www.facebook.com/DCP.culture/posts/597559840369592
ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หน้า 30 - 33 http://ich.culture.go.th/doc/ich2014.pdf


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น