วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

1. วงแชมเบอร์มิวสิค (Chamber Music)


          วงดนตรีประเภทแชมเบอร์มิวสิคจัดเป็นการผสมวงดนตรีของตะวันตกอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นมายาวนาน นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 14 หรือยุคกลาง (Middle Age) เป็นต้นมา ได้มีการผสมวงดนตรีซึ่งพบในบทเพลงโมเต็ท (Motet) และแมดริกัล (Madrigal) ซึ่งเป็นบทเพลงขับร้อง นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 14 จนถึงต้นศตวรรษที่ 16 เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายและเครื่องลมได้เข้ามาบรรเลงร่วมกับการขับร้อง "Webster's Dictionary" ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "แชมเบอร์มิวสิค" ไว้ว่า "Instrumental music suitable for performance in a chamber or a small audience hall" ซึ่งศาสตราจารย์ไขแส ศุขะวัฒนะ (2525:20) แปลเป็นภาษาไทยว่า "ดนตรีประเภทบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีที่เหมาะสำหรับแสดงภายในห้องโถงหรือสถานที่ที่จุผู้ฟังได้เพียงจำนวนน้อย" หรือจะเรียกดนตรีประเภทนี้ว่า แชมเบอร์มิวสิคเป็นดนตรีของนักดนตรี (musicians' music) , ดนตรีของมิตรสหาย (music of friends) และ ดนตรีในหมู่เพื่อนฝูง (music among friends)

          ในสมัยแรกๆ วงดนตรีประเภทนี้เหมาะสำหรับการบรรเลงในบ้าน คฤหาสน์ของขุนนาง หรือห้องที่จุผู้ฟังได้จำนวนน้อย ซึ่งผู้จัดงานมีแขกพอประมาณ ต่อมาวงแชมเบอร์มิวสิคเล่นในห้องโถงที่มีขนาดใหญ่ และในที่สุดต้องเล่นในคอนเสิร์ตฮอลล์ (Concert hall) หรือสังคีตสถาน อย่างเช่นศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น การฟังดนตรีประเภทแชมเบอร์มิวสิคต้องมีความรู้ความเข้าใจเช่นเดียวกับการฟังดนตรีคลาสสิกทั่วๆ ไป

          เนื่องจากดนตรีประเภทนี้ใช้ผู้เล่นเพียงไม่กี่คน ฉะนั้นเสียงที่ออกมาจะยิ่งใหญ่มโหฬารหรือความมีพลัง อย่างวงออร์เคสตราก็ทำไม่ได้ ลักษณะเด่นของวงดนตรีประเภทนี้ก็คือเสียงดนตรีที่แท้จริง สำหรับด้านคุณภาพของการเล่นนั้นผู้เล่นต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ผู้ใดเล่นผิดพลาดจะได้ยินอย่างเด่นชัด ความถูกต้องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของดนตรีประเภทนี้ การฟังเพื่อให้ได้รสชาติที่สมบูรณ์ของแชมเบอร์มิวสิคนั้นไม่ได้อยู่แต่เพียงความตั้งอกตั้งใจฟังอย่างไตร่ตรอง แต่ยังต้องอาศัยบรรยากาศที่เอื้อต่อการฟังอีกด้วย

          คีตกวีเกือบทุกคนจะมีผลงานแต่งเพลงแบบวงแชมเบอร์ ซึ่งการผสมวงดนตรีก็อาจแตกต่างกันออกไป ตามความนิยม ในปัจจุบันเรามักพบเห็นการแสดงดนตรีแบบแชมเบอร์ตามงานต่างๆ เช่น งานแต่งงานหรืองานเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งนิยมบรรเลงเพลงที่ฟังสบายๆ ทั้งเพลงคลาสสิกและเพลงตามสมัยนิยม มีตั้งแต่กลุ่มละ 2 คน ไปจนถึง 9 คน แต่ละกลุ่มมีชื่อเรียกเฉพาะแตกต่างกันตามจำนวนผู้บรรเลงดังนี้

วงแชมเบอร์มิวสิค (Chamber Music)



1.1 กลุ่มละ 2 คน เรียกว่า ดูเอต (Duet) หรือ ดูโอ (Duo) มีผู้แสดงจำนวน 2 คน เช่น ผู้เล่นไวโอลิน 1 คน ผู้เล่นเปียโน 1 คน



1.2 กลุ่มละ 3 คน เรียกว่า ทรีโอ (trio) มีผู้แสดงจำนวน 3 คน เช่น ผู้เล่นไวโอลิน 1 คน ฟลู้ต 1 คน ฮาร์พ 1 คน





1.3 กลุ่มละ 4 คน เรียกว่า ควอเต็ต (quartet) มีผู้แสดงจำนวน 4 คน เช่น เครื่องสาย 4 ชิ้น คือผู้เล่นไวโอลิน 2 คน วิโอลา 1 คน และ เชลโล 1 คน





1.4 กลุ่มละ 5 คน เรียกว่า ควินเต็ต (quintet) มีผู้แสดงจำนวน 5 คน เช่น วงเครื่องเป่าทองเหลือง 5 ชิ้น คือ ผู้เล่นทรัมเป็ต 2 คน ฮอร์น 1 คน ทรอมโบน 1 คน ทูบา 1 คน





1.5 กลุ่มละ 6 คน เรียกว่า เซ็กเต็ต (sextet) มีผู้แสดงจำนวน 6 คน เช่น ผู้เล่นทรัมเป็ต 2 คน เฟรนช์ฮอร์น 1 คน ทูบา 1 คน ยูโฟนเนียม 1 คน ทรอมโบน 1 คน





1.6 กลุ่มละ 7 คน เรียกว่า เซ็ปเต็ต (septet) มีผู้แสดงจำนวน 7 คน เช่น ผู้เล่นไวโอลิน 2 คน เฟรนช์ฮอร์น 1 คน คลาริเน็ต 1 คน บาสซูน 1 คน เชลโล 1 คน และ ดับเบิลเบส 1 คน





1.7 กลุ่มละ 8 คน เรียกว่า อ๊อกเต็ต (octet) มีผู้แสดงจำนวน 8 คน เช่น ผู้เล่นไวโอลิน 4 คน วิโอลา 2 คน เชลโล 2 คน





1.8 กลุ่มละ 9 คน เรียกว่า โนเน็ต (nonet) มีผู้แสดงจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ผู้เล่นไวโอลิน วิโอลา ฟลุท โอโบ คลาริเน็ต บาสซูน ฮอร์น เชลโล ดับเบิลเบส รวมเป็น 9 คน





วีดีโอตัวอย่างการบรรเลงวงแชมเบอร์มิวสิค (Chamber Music)




          ในการเรียกชื่อวงแชมเบอร์มิวสิคนั้นยังมีประเพณีในการเรียกอีกอย่างคือเรียกชื่อประเภทของเครื่องดนตรีก่อนแล้วตามด้วยจำนวนเครื่องดนตรีเช่น สตริงควอเต็ต หมายถึงวงแชมเบอร์มิวสิคที่ประกอบด้วย ไวโอลิน 2 คัน, วิโอลาและเชลโล เป็นต้น เครื่องดนตรีที่นำมารวมกันเป็นวงแชมเบอร์มิวสิคนั้น ที่นิยมแพร่หลายนั้นได้แก่ กลุ่มเครื่องสาย ตระกูลไวโอลิน เพราะสุ้มเสียงของเครื่องตระกูลนี้ไม่ว่าจะเป็นไวโอลิน, วิโอลา, และเชลโล ล้วนสามารถกลมกลืนเข้ากันได้เป็นอย่างดี เช่น วงสตริงควอเต็ต ( ไวโอลิน 2 คัน, วิโอลาและเชลโล) ซึ่งถือว่าเป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการผสมวงดนตรีประเภทนี้ควรเป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ในตระกูลเดียวกันเพราะสุ้มเสียงที่มีสีสัน (Tone color) เดียวกันอีกทั้งยังไม่มีการแสดงความเด่นข่มสุ้มเสียงอื่น


การบรรเลง วงสตริงควอเต็ต (String Quartet) : แคนอน ในบันไดเสียง ดี เมเจอร์





          การผสมวงที่ใช้เครื่องสายไวโอลิน 2 คัน รวมเรียกว่า "สตริงดูโอ" (String Duo) ในงานของ ลุยส์ ชโปร์ (ค.ศ.1784 - 1859) คีตกวีและนักไวโอลินชาวเยอรมัน และของบาร์ทอค






          ในยุคบาโรคการได้มีการปรับปรุงการจัดวงแชมเบอร์มิวสิคได้รู้จักกันในชื่อว่า "ทริโอโซนาตา" (Trio sonata) โดยโซนาตาชนิดนี้มีผู้บรรเลง 4 คน คือ ผู้บรรเลงเดี่ยว 2 คน และผู้บรรเลงแนวล่างสุดหรือ คอนตินูโอ (Continuo) อีก 2 คน ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้บรรเลง 4 คนก็ตามแต่ให้ถือว่ามี 3 แนว คือ สองแนวแรกเป็นแนวของเครื่องดนตรีบรรเลงเดี่ยว และแนวที่สามนั้นเป็นของเครื่องดนตรีคอนตินูโอ เช่น บาโรคทริโอโซนาตา ประกอบด้วย ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ 2, ฮาร์พซิคอร์ดและเชลโล


การบรรเลงวง "ทริโอโซนาตา" (Trio sonata)





          นอกจากนี้ยังมีการผสมวงแบบต่าง ๆ ด้วยเครื่องสายและเปียโน เช่น เปียโนทรีโอ ( เปียโน, ไวโอลินและเชลโล)






          ปัจจุบันในประเทศไทยเราก็ได้มีการพัฒนาวงดนตรีประเภทแชมเบอร์มิวสิคขึ้นมาเช่นกันโดยการนำเอาเครื่องดนตรีตระกูลแซ็กโซโฟน ( โซปราโน, อัลโต, เทเนอร์และบาริโทนแซ็กโซโฟน) มารวมกันเป็น "วงบางกอกแซ็กโซโฟนควอเต็ต" โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุกรี เจริญสุข และสมาชิก ตั้งแต่ปี พ. ศ. 2532




          การผสมวงที่ใช้เครื่องลมบางชนิดรวมกัน เช่น โอโบ 2, คลาริเนท 2 , บาสซูน 2 และ แตรเฟรนช์ฮอร์น 2 รวมเรียกว่า "วินด์อ๊อคเต็ต" (Wind Octet)



          นอกจากนี้ยังมีคำว่า "อองซองค์เบิล" (Ensemble) เป็นภาษฝรั่งเศส ซึ่งมีความหมายว่า "ด้วยกัน" เป็นลักษณะของการบรรเลงดนตรีจากผู้เล่นหลาย ๆ คนมีจำนวนผู้เล่นไม่เกิน 20 คน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจในการแสดงของทุกคนรวมถึงความสามารถของนักดนตรีแต่ละคน


วิดีโอตัวอย่าง การบรรเลงประเภทวง "อองซองค์เบิล" (Ensemble)





          ในกรณีที่กลุ่มนักดนตรีไม่ว่าชนิดที่มีเฉพาะผู้เล่นเครื่องสายล้วนๆ และมีผู้เล่นเครื่องลมผสมอยู่บ้างแต่รวมแล้วไม่เกิน 30 คน โดยสัดส่วนของวงเช่นเดียวกับวงออร์เคสตรา กลุ่มนักดนตรีนี้ก็จะเรียกว่า "วงแชมเบอร์ ออร์เคสตรา" (Chamber Orchestra)



วิดีโอตัวอย่าง การบรรเลงประเภทวง "อองซองค์เบิล" (Ensemble)





          ลักษณะการผสมวงแบบแชมเบอร์มิวสิคนี้หากนักดนตรีที่มารวมกันนั้นเป็นนักศึกษามาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กัน อาจเป็นการรวมวงระหว่างอาจารย์หรือนักศึกษาที่มีความสามารถทางดนตรีเป็นเยี่ยม เรามักจะเรียกการรวมวงประเภทนี้ว่า "โปรมิวสิคกา ออร์เคสตรา" (Promusica Orchestra)





ที่มา : โรงเรียนคูซอดประชาสรรค์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น