วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

7. ศตวรรษที่ 20 (The Twentieth Century)




          เริ่มจากปี ค.ศ. 1900 จนถึงปัจจุบัน ดนตรีในยุคนี้มีความหลากหลายมาก เนื่องจากสภาพสังคมที่เป็นอยู่ คีตกวีพยายามที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา มีการทดลองการใช้เสียงแบบแปลกๆ การประสาน ทำนองเพลงมีทั้งรูปแบบเดิม และรูปแบบใหม่ คีตกวีเริ่มเบื่อและรู้สึกอึดอัดที่จะต้องแต่งเพลงไปตามกฎเกณฑ์ที่ถูกบังคับ โดยระบบกุญแจหลักและบันไดเสียงเมเจอร์ และไมเนอร์ จึงพยายามหาทางออกต่างๆ กันไป มีการใช้เสียงประสานอย่างอิสระ ไม่เป็นไปตามกฎของดนตรี จัดลำดับคอร์ดทำตามความต้องการของตน ตามสีสันของเสียงที่ตนต้องการ ทำนองไม่มีแนวที่ชัดเจนรัดกุม เหมือนทำนองยุคคลาสสิค หรือโรแมนติค ฟังเพลงเหมือนไม่มีกลุ่มเสียงหลัก ในครึ่งหลังของสมัยนี้ การดนตรีรุดหน้าไปอย่างไม่ลดละ นอกจากมีการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ทางด้านทฤษฎีแล้ว ยังมีการใช้เครื่องไฟฟ้าเข้ามาประกอบด้วย เช่น มีการใช้เสียงซึ่งทำขึ้นโดยระบบไฟฟ้า เป็นสัญญาณเสียงในระบบอนาล็อกหรือดิจิตอล หรือใช้เทปอัดเสียงในสิ่งแวดล้อมต่างๆ มาเปิดร่วมกับดนตรีที่แสดงสดๆ บนเวที และเสียงอื่นๆ อีกมากยุคนี้จึงเป็นสมัยของการทดลองและบุกเบิก

          ความเจริญในด้านต่าง ๆ ก็มีความสำคัญและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดมา ความเจริญทางด้านการค้าความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ การขนส่ง การสื่อสาร ดาวเทียม หรือ แม้กระทั่งทางด้านคอมพิวเตอร์ ทำให้แนวความคิดทัศนคติของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปและแตกต่างจากแนวคิดของคนในสมัยก่อน ๆ จึงส่งผลให้ดนตรีมีการพัฒนาเกิดขึ้นหลายรูปแบบ คีตกวีทั้งหลายต่างก็ได้พยายามคิดวิธีการแต่งเพลง การสร้างเสียงใหม่ ๆ รวมถึงรูปแบบการบรรเลงดนตรี เป็นต้น จากข้างต้นนี้จึงส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบของดนตรีในสมัยศตวรรษที่ 20 ความเปลี่ยนแปลงในทางดนตรีของคีตกวีในศตวรรษนี้ก็คือ คีตกวีมีความคิดที่จะทดลองสิ่งใหม่ ๆ แสวงหาทฤษฎีใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับความคิดสร้างสรรค์กับสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง ดนตรีในศตวรรษที่ 20 นี้ กล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของดนตรีที่มีหลายรูปแบบนอกจากนี้ยังมีการใช้บันไดเสียงมากกว่า 1 บันไดเสียงในขณะเดียวกันที่เรียกว่า “โพลีโทนาลิตี้” (Polytonality) ในขณะที่การใช้บันไดเสียงแบบ 12 เสียง ที่เรียกว่า “อโทนาลิตี้” (Atonality) เพลงจำพวกนี้ยังคงใช้เครื่องดนตรีที่มีมาแต่เดิมเป็นหลักในการบรรเลง


ลักษณะของบทเพลงในสมัยศตวรรษที่ 20

          ดนตรีในศตวรรษที่ 20 นี้ไม่อาจที่จะคาดคะเนได้มากนัก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม คนในโลกเริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น (Globalization) โดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรืออินเตอร์เน็ต (Internet) ในส่วนขององค์ประกอบทางดนตรีในศตวรรษนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นมาตรฐานของรูปแบบที่ใช้ในการประพันธ์และการทำเสียงประสานโดยยึดแบบแผนมาจากสมัยคลาสสิก ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับ

          ดนตรีอีกลักษณะคือ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นมาเพื่อบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอีเลคโทรนิค ซึ่งเสียงเกิดขึ้นจากคลื่นความถี่จากเครื่องอิเลคโทรนิค (Electronic) ส่งผลให้บทเพลงมีสีสันของเสียงแตกต่างออกไปจากเสียงเครื่องดนตรีประเภทธรรมชาติ (Acoustic) ที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม การจัดโครงสร้างของดนตรียังคงเน้นที่องค์ประกอบหลัก 4 ประการเหมือนเดิม กล่าวคือระดับเสียงความดังค่อยของเสียง ความสั้นยาวของโน้ต และสีสันของเสียง


นักแต่งเพลงที่อาจเรียกได้ว่ามีชื่อเสียงที่สุด และเขียนเพลงไว้มากที่สุดในหลายๆ สไตล์ คือ

1. อิกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky ค.ศ. 1882 - 1971)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวรัสเซียโดยกำเนิด เกิดวันที่ 17 มิถุนายน1882 ที่เมือง โลโมโนซอบใกล้กับเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้วย้ายมาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส จากนั้นย้ายมาตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา พ่อเป็นนักร้องโอเปร่าประจำเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กและหวังที่จะได้เห็นลูกเรียนจบกฎหมายและทำงานราชการ ชีวิตในตอนเริ่มต้นของสตราวินสกีคล้ายกับไชคอฟสกี้ (Tchaikovsky) ตรงที่ได้เรียนเปียโนตั้งแต่วัยเด็ก โดยที่บิดามารดาไม่ได้หวังให้เอาดีทางดนตรี ดังที่กล่าวข้างต้น เขาได้เรียนการประพันธ์ดนตรีกับริมสกี้ คอร์ชาคอฟ (Rimsky - Korsakov)

          งานของสตราวินสกีมีหลายสไตล์เช่น Neo – Classic คำว่า “Neo” แปลว่า “ใหม่” งานสไตล์ “คลาสสิกใหม่” กล่าวคือ คลาสสิกที่คงแบบแผนการประพันธ์เดิมแต่มีทำนอง เสียงประสาน ฯลฯ สมัยใหม่ นอกจากนี้ก็มีสไตล์ อิมเพรสชั่นนิส (Impressionis) ซึ่งมีหลักการสอดคล้องกับงานนามธรรม (Abstractionism) ทางจิตรกรรม

          ผลงานแต่ละชิ้นของสตราวินสกีไม่มีซ้ำกันเลยแม้จะเป็นสไตล์เดียวกันก็ตาม เขาพยายามแทรกแนวคิดใหม่ ๆ ในการประสานเสียง การใช้จังหวะลีลาแปลก ๆ และการเรียบเรียงแนวบรรเลงให้เกิดเสียงที่มีสีสรรอันประหลาดลึกล้ำและเขาก็ทำงานด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างสมเหตุสมผลมีผู้กล่าวในทำนองที่ว่าทฤษฎีที่ผิดของสตาวินสกีนั้นเป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง เขาเองมีความเชื่อว่าเสียงดนตรีทุกเสียงมีความบริสุทธิ์และมีความสำคัญในตัวมันเองเท่าเทียมกันหมดในทุกกรณี


 


          สตาวินสกีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของวงการดนตรีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่1ด้วยผลงานเพลงประกอบบัลเล่ท์ The Firebird, Petrushka, และ The Rite of Spring (Le sacre du Printemps)เป็นเพลงประกอบบัลเล่ย์เริ่มการประพันธ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1910 เขียนไปเรื่อย ๆ กระทั่งวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1913 จึงเขียนเสร็จให้นักดนตรีฝึกซ้อม แล้วนำออกแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1913 ณ The Theatre des Champs-Elysees กรุงปารีส โดยมีปิแอร์ มองตัว (Pierre Monteux) เป็นผู้ควบคุมการบรรเลง

          The Rite of Spring สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมากเพราะเป็นการล้มล้างความคิดเก่า ๆ ลงอย่างสิ้นเชิง บทเพลงใช้หลายบันไดเสียงในเวลาเดียวกัน ใช้จังหวะที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา นับเป็นการแหกคอก แม้ผู้ฟังในปารีสเองยังทนไม่ได้ เล่ากันว่ามีจลาจลย่อย ๆ เลยทีเดียวที่มีการบรรเลงดนตรีแหกคอกครั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ได้รับความนิยมได้แก่ Symphony in three movements, Ebony concerto (Rhapsody concerto), Ragtime, The Song of the nightingale,Piano – Rag – Music

          สตาวินสกีประพันธ์ดนตรีจนกระทั่งวาระสุดท้าย เขาสิ้นชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ1971 ที่เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมอายุได้ 89 ปี นับว่าเป็นคีตกวี ที่อายุยืนมากคนหนึ่ง เข้าแจ้งความประสงค์ก่อนตายว่าอยากให้ฝังศพของเขาไว้ใกล้ ๆ หลุมศพของดีอากีเล็ฟ ที่สุสานซานมีเช็ล (San Michele) ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ทางการอิตาลีให้มีการจัดขบวนแห่ศพไปตามคลองเมืองเวนิซมุ่งสู่สุสานแห่งนั้น ซึ่งมีมุมหนึ่งเป็นสุสานสำหรับคนรัสเซียโดยเฉพาะ (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์, 2535 : 280)


2. บาร์ตอค (Bela Bartok ค.ศ. 1881 - 1945)




          เกิดวันที่ 25 มีนาคม 1881 ตำบล Nagyszentmiklos ประเทศ ฮังการี บิดาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนกสิกรรมประจำตำบล มารดา เป็นครู ทั้งพ่อและแม่มีความสามารถทางด้านดนตรี แต่บาร์ตอคไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนจากพ่อเนื่องจากพ่อถึงแก่กรรมเมื่อบาร์ตอคอายุได้ 8 ขวบ เพลงที่บาร์ตอคประพันธ์ขึ้นมีแนวการประพันธ์เพลงสมัยใหม่ โดยใช้เพลงพื้นเมืองของฮังการีและรูมาเนียเป็นวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งท้ายที่สุดทำให้เขามีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วนานาชาติว่าเป็นผู้รอบรู้ใน ดนตรีพื้นเมืองอย่างดียิ่ง

          บาร์ตอคเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีหลักการประพันธ์เพลงเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งทำให้มีชื่อเสียงในฐานะผู้ประพันธ์เพลงชั้นแนวหน้าผู้หนึ่งในสมัยศตวรรษที่ 20 ผลงานของบาร์ตอคที่น่าสนใจมีมากมายได้แก่ โอเปร่า Duke Bluebeard’s Castle, บัลเลท์ The Miraculous Mandarin เปียโนคอนแชร์โต 3 บท ไวโอลินคอนแชร์โต 2 บท สตริงควอเตท 6 บท และดนตรีสำหรับเปียโนอีกมากมาย โดยเฉพาะชุด Mikrokosmos บทเพลงสำหรับฝึกเทคนิคการเล่นเปียโนกว่า 150 บท


 

          ชีวิตในบั้นปลายของบาร์ตอคมีลักษณะเช่นเดียวกับโมสาร์ท และ ชูเบิร์ท กล่าวคือ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นยากจน ในปี 1944 บาร์ตอคต้องเผชิญกับโรคร้ายคือมะเร็งโลหิต แพทย์ยับยั้งได้ก็แต่เพียงให้ยาและถ่ายเลือด จนกระทั่งเดือนกันยายน ปี 1945 ขณะที่กำลังประพันธ์เพลงวิโอลาคอนแชร์โตให้ วิลเลียม พริมโรส อาการของโรครุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นต้องส่งโรงพยาบาล จนในที่สุดก็สิ้นใจเมื่อเวลาเกือบเที่ยงวันของวันที่ 26 กันยายน 1945 หลังจากการสิ้นชีวิตของบาร์ตอคไม่นานนัก ชื่อเสียงของเขาก็ได้รับการกล่าวขานในฐานะคีตกวีเอกของโลกผู้หนึ่งแห่งดนตรีสมัยใหม่


3.จอร์จ เกิร์ชวิน (George Gershwin ค.ศ. 1898 - 1937)




          ผู้ประพันธ์และนักเขียนเพลง ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 1898 บิดาเป็นชาวยิวอพยพจากรัสเซีย เกิร์ชวินเริ่มอาชีพเป็นนักเขียนเพลง ในระหว่างปี 1920-1930 เพลงแรกของจอร์จ คือ Since I Found You ซึ่งไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน จอร์จชื่นชมผลงานของเออร์วิง เบอร์ลิน (Irving Berlin) ซึ่งเป็นนักประพันธ์เพลงป๊อปปูล่าสมัยนั้นเพลงที่มีชื่อเสียงเพลงแรกของเบอร์ลิน คือ Alexander’s Ragtime Band

          ผลงานชิ้นเอกของเกิร์ชวินได้แก่ Rhapsody in Blue สำหรับเปียโนและวงออร์เคสตราหรือวงดนตรีประเภทแจ๊ส Cuban Overture สำหรับวงออร์เคสตรา Concerto in F สำหรับเปียโนและวงออร์เคสตรา Piano Preludes, Porgy and Bess (Folk opera), An American in Paris งานชิ้นแรกสำหรับเวทีบรอดเวย์คือ La La Lucille นอกจากนี้แล้วผลงานเพลงของเกิร์ชวินถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อคีตกวี ในงานดนตรีประเภทที่เรียกว่า “เซียเรียส มิวสิค” (Serious Music) และมีผลต่อดนตรีแจ๊ส (Jazz) การที่ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อวงการดนตรีอย่างกว้างขวางนี้แหละที่ทำให้เกิร์ชวิน และคีตกวีเอกอื่น ๆ เป็นผู้ที่ประวัติศาสตร์ดนตรีไม่อาจตัดชื่อของเขาทิ้งไปได้




          เกิร์ชวินก็หนีไม่พ้นความตายเฉกเชนกับมนุษย์คนอื่น ๆ ทั่วไป เขาจากโลกไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ปี 1937 ด้วยโรคเนื้องอกในสมอง วิทยุประกาศข่าวการมรณกรรมของเขาว่า “บุรุษผู้กล่าวว่าในหัวของเขามีเสียงดนตรีมากเกินกว่าที่เขาจะสามารถบันทึกลงบนกระดาษให้หมดได้ ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้วในวันนี้ที่ฮอลลิวู้ด” (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์, 2535 : 300)


4. อาร์โนลด์ โชนเบิร์ก (Arnold Schoenberg,1874-1951)




          เกิดที่กรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 1874 ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เพลงไว้หลายรูปแบบตามแนวความคิดในช่วงปลายสมัยโรแมนติก โดยเริ่มต้นในฐานะผู้ที่เดินตามรอยของวากเนอร์ (Wagner) สเตราส์ (R.Strauss) มาห์เลอร์ (Mahler) และบราห์มส์ (Brahms) โชนเบิร์กได้ศึกษาดนตรีกับครูอย่างจริงจังเพียงเครื่องไวโอลินเท่านั้น ส่วนเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ เขาใช้เวลาว่างในการฝึกหัดเล่นเอาเองทั้งนั้น ไม่ได้เรียนจากใครเลย แต่เขาก็สามารถเล่นได้ดีทุกอย่าง

          สไตล์การแต่งเพลงของโชนเบิร์กเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยเขาได้ริเริ่มคิดการแต่งเพลงโดยใช้แนวคิดใหม่คือใช้ระบบทเว็ลฟ-โทน (Twelve Tone System) คือ การนำเสียงสูง – ต่ำทั้งหมด 12 เสียง มาเรียงกันเป็นลำดับที่แน่นอนโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้มีเสียงหลัก (Tonic) ซึ่งหลักสำคัญคือ ทฤษฏีที่ว่าด้วยเสรีภาพของเสียง และความสำคัญเท่าเทียมกันของเสียงทุกเสียง

          ในดนตรี (The Freedom of Musical Sound : The Atonality) อันเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของดนตรี “เซียเรียล มิวสิก” (Serial Music) ซึ่งพัฒนาความคิดรวบยอดของมนุษย์ในปรัชญาดนตรีแห่งศตวรรษที่ 20 ให้ก้าวไกลควบคู่ไปกับวิทยาการสมัยใหม่

          โชนเบิร์กใช้ “ระบบทเว็ลฟ - โทน” ในผลงานหมายเลขสุดท้ายของ Five Pieces for Piano ในปี 1923 และในท่อนที่ 4 ของ Serenade ในปีเดียวกัน ผลงานการประพันธ์ชิ้นแรกของโชนเบิร์กที่สร้างขึ้นด้วย “ระบบทเว็ลฟ - โทน” โดยตลอดคือ Suite for Piano ในปี 1924 ระบบ “ระบบทเว็ลฟโทน” กลายเป็นเครื่องมือ การทำงานของโชนเบิร์กที่เขาใช้ด้วยความชำนาญอย่างน่าพิศวงและไม่ซ้ำซากจำเจ นอกจากประสบความสำเร็จในด้านการต้อนรับของผู้ฟังแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์การนำไปสู่แนวคิดความเข้าใจเรื่องดนตรีซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่ยึดถือกันมากว่า 300 ปี




          นอกจากผลงานด้านดนตรีแล้วโชนเบิร์กยังมีผลงานเขียนด้วย ได้แก่ “ทฤษฎีแห่งเสียงประสาน” (Harmonielehre) ในปี 1911 ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ (Theory of Harmony) ในปี 1947 และยังเป็นอาจารย์สอนการประพันธ์ดนตรีในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งถือว่ามีคุณค่าต่อวงการดนตรีต่อๆ มาในบั้นปลายชีวิตของโชนเบิร์กเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกันและใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายจนถึงแก่กรรมในปี 1951 ขณะอายุได้ 77 ปี (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์, 2535 : 260)


5. อัลบาน เบิร์ก (Aban Berg, 1885 - 1935)




          นักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียเป็นลูกศิษย์ของโชนเบิร์กและนำเอาหลักการใช้บันไดเสียงแบบ 12 เสียง (Atonality) มาพัฒนารูปแบบให้เป็นของตนเอง เพื่อต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าลักษณะบันไดเสียงแบบนี้สามารถนำมาใช้ในการประพันธ์เพลงให้มีลักษณะเป็นดนตรีที่มีความไพเราะสวยงามและเต็มไปด้วยอารมณ์ในปัจจุบัน เบิร์กเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประพันธ์เพลงประเภทโอเปร่าและไวโอลินคอนแชร์โต (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 : 180)



6. เซอร์ไก โปรโกเฟียฟ (Sergei Prokofiev, 1891-1953)




          นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซียเกิดวันที่ 23 เมษายน 1891 ทางภาคใต้ของรัสเซีย เริ่มเรียนเปียโนจากมารดาตั้งแต่เด็ก ต่อจากนั้นไม่นานนักเขาก็สามารถประพันธ์ดนตรี ทั้งประเภทดนตรีบรรเลงและดนตรีสำหรับโอเปร่า (Opera) ตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบ

          ประวัติการสร้างสรรค์ของเขาเริ่มต้นตั้งแต่เยาว์วัย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เขาเติบโตมาเป็นคีตกวีเอกคนหนึ่งของโลกคนเราอาจเริ่มต้นดีได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่น้อยคนที่จะยืนหยัดได้ตลอดรอดฝั่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นความจริงที่ว่า “สิ่งที่พิสูจน์คุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ตอนเริ่มแต่ทว่าอยู่ที่ตอนจบ” โปรโกเฟียฟ เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่ทำให้ชนรุ่นหลังควรนำมาเป็นแบบอย่างทั้งทางด้านความวิริยะอุตสาหะ ในการฝึกฝนดนตรี

          ผลงานที่ประพันธ์ที่สำคัญที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดจำนวนหนึ่งถูกเขียนขึ้นซึ่งรวมทั้งซิมโฟนีหมายเลข 5 ประกอบด้วย นิทานดนตรี Peter and the Wolf บัลเลย์เรื่อง Romeo and Juliet และโอเปร่าเรื่อง War and Peace (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์, 2535 :293)



7. พอล ฮินเดมิธ (Paul Hindemith, 1895-1963)




          ผู้ประพันธ์ เพลงและนักไวโอลิน วิโอลาชาวเยอรมัน ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนาซีมีอำนาจในยุโรป ฮินเดมิธ ประพันธ์เพลงเด่นในลักษณะของดนตรีสำหรับชีวิตประจำวันมากกว่าดนตรีศิลปะ ที่เรียกว่า “Gebrauchsumsik” ผลงานสองชิ้นของเขายังคงเป็นผลงานดีเด่นที่บรรเลงในการแสดงคอนเสิร์ต คือ Symphonic Mathis der Maler ดัดแปลงจากโอเปร่าของฮินเดมิธเอง และ Symphonic Metamorphose on Themes of Wehse แนวการประพันธ์ของฮินเดมิธได้ยึดหลักการใช้บันไดเสียง 12 เสียง (Atonality) โดยไม่ละทิ้งระบบเสียงที่มีเสียงหลัก ซึ่งฮินเดมิธถือว่าเป็นหลักสำคัญต่างไปจากหลักการของโชนเบิร์ก (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :181)



8. อารอน คอปแลนด์ (Aaron Copland, ค.ศ. 1900-1991)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวอเมริกันซึ่งวัตถุดิบในการแต่งเพลงนำมาจากสังคมของอเมริกันเองไม่ว่าจะเป็นเพลงประเภทพื้นเมือง เพลงเต้นรำ ดนตรีแจ๊ส หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในสังคมอเมริกันผลงานเพลงของคอปแลนด์ประกอบด้วย ดนตรีบัลเลท์ Billy the Kid, Rode และAppalachian Spring เป็นเพลงที่นิยมบรรเลงโดยไม่มีบัลเลท์ประกอบในระยะต่อ ๆ มา เพลงสำหรับออร์เคสตรา El Salon Mexico และ A Lincoln Portrait มีการบรรยายประกอบวงออร์เคสตรานอกจากนี้ยังแต่งเพลงประกอบภาพยนต์อีกจำนวนหนึ่ง



9. ดมิทรี ดมิทรีวิช ชอสตาโควิช (Dmitri Dmitrievich Shostakovich, 1906 - 1975)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย เกิดที่เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 25 กันยายน 1906 เข้าเรียนดนตรีในสถาบันดนตรีแห่ง เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ขณะอายุ 13 ปี ได้เรียนเปียโนกับ Nikolaev

          ในผลงานของชอสตาโกวิชในระยะแรกมักถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่ายากและก้าวล้ำสมัยเกินกว่าความเข้าใจของผู้ฟังที่จะรับได้ ไม่มีลักษณะของชาตินิยมอยู่ในผลงานและเขาเองก็ต้องทนทุกข์กับคำติเตียนอย่างหนักชอสตาโกวิชยึดหลักในการแต่งเพลงที่ต้องการสนองความต้องการของตนเองโดยไม่ละทิ้งความต้องการของประเทศและประชาชนชาวรัสเซีย ผลงานดนตรีส่วนใหญ่ของเขาที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกและประวัติศาสตร์ของรัสเซียต้องยกย่องเขาให้เป็นคีตกวีคนสำคัญทางดนตรีตะวันตกในศตวรรษที่ 20 นี้ นอกจากนี้แล้วทำนองเพลงที่สำคัญของเขาที่เขียนให้กับ ภาพยนต์เรื่อง Vstrechnyi ได้ถูกนำมาใช้เป็นบทเพลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Hymn)

          ผลงานการประพันธ์ของชอสตาโกวิชที่เป็นผลงานขนาดใหญ่ คือ ซิมโฟนี 15 บท บางบทมีสาระเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและความรักชาติ เช่น หมายเลข 7 Leningrad Symphony (ซึ่งบางส่วนเขียนขึ้นขณะที่เมืองเลนินกราดถูกล้อมในปี 1914 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพื่ออุทิศให้แด่ผู้ที่ต่อสู้ป้องกันเมืองเลนินกราด) นอกจากนี้ยังมีเพลงประเภทคอนแชร์โตสำหรับเครื่องดนตรี สตริงควอเตทดนตรีสำหรับเปียโน และโอเปร่าเรื่อง Lady Macbeth of Mt. Sensk District เขียนขึ้นจากงานวรรณกรรมของ Leskov ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Katerina Ismailova เป็นผลงานที่ทำให้ชอสตาโกวิชพบกับความยุ่งยากทางการเมือง มีคนที่จะพยายามใช้คำพูดอธิบายลักษณะดนตรีของชอสตาโกวิช ส่วนใหญ่มักใช้คำว่า “รุนแรง”” เด็ดขาด” ”ชัดเจน”และ “เปิดเผยตรงไปตรงมา”




          ชอสตาโกวิช สิ้นชีวิตวันที่ 9 สิงหาคม 1975 นอกกรุงมอสโคว์ เขาได้รับการนับถือว่าเป็นคีตกวีชาวรัสเซียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยเดียวกัน


10. คาร์ลไฮนซ์ สต็อกเฮาเซน (Karlheinz Stockhausen, ค.ศ. 1928-2006)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน ซึ่งมีความเพ้อฝันและการสร้างสรรค์เกี่ยวกับดนตรีอย่างมากที่สุดผู้หนึ่งในศตวรรษที่ 20 ส่วนหนึ่งของผลงานการประพันธ์ใช้หลักการของโชนเบิร์ก คือ การใช้บันไดเสียง 12 เสียง (Atonality) การใช้เครื่องดนตรีประเภทอิเลคโทรนิค และพัฒนาความคิดของผู้ฟังให้มีส่วนในการทำความเข้าใจกับดนตรีด้วยตนเอง (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 : 183)


ผลงานของสตอคเฮาเซนประกอบด้วย

- Gruppen สำหรับวงออร์เคสตรา 3 กลุ่ม
- Zyklus สำหรับเครื่องประกอบจังหวะ
- Kontelte สำหรับเสียงอีเลคโทรนิค เปียโน และเครื่องประกอบจังหวะ Hymnen เป็นดนตรีอีเลคโทรนิคโดยนำแนวทำนองของเพลงชาติประเทศต่าง ๆ มาเป็นวัตถุดิบและ Stimmung สำหรับเครื่องอีเลคโทรนิค 6 เครื่อง

          สตอกเฮาเซนเป็นผู้ประพันธ์เพลงคนแรกที่พิมพ์โน้ตเพลงอีเลคโทรนิคในรูปแบบของ แผนภูมิ นอกจากเป็นผู้ประพันธ์แล้วเขายังเป็นครูสอนแนวคิดทางดนตรีที่เป็นของตนเองด้วย


11. ฟิลิป กลาส (Philip Glass, 1937-)




          ผู้ประพันธ์เพลง ชาวอเมริกันผู้ซึ่งในระยะแรกยึดหลักการแต่งแบบมาตรฐานที่ใช้กันมาในสมัยต่าง ๆ หลังจากไปศึกษาเพิ่มเติมด้านดนตรีในปารีส แนวคิดของกลาสเริ่มเปลี่ยนไปในทางสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากรูปแบบมาตรฐาน อย่างไรก็ตามกลาสเลิกจริงจังกับการประพันธ์เพลงไปพักใหญ่ โดยเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเป็นคนขับรถแท็กซี่ ช่างไม้ และช่างประปา จนกระทั่งไปพบกับ ผู้ประพันธ์เพลงแนวเดียวกันอีกครั้งหนึ่งกลาสจึงตั้งวงดนตรีที่ประกอบด้วย ออร์แกนอีเลคโทรนิค 2 ตัว ซึ่งกลาสเล่นเอง 1 ตัว ผู้เล่นเครื่องเป่า 4 คน และนักร้องหญิง 1 คน ซึ่งมิได้ถือเป็นการร้องเพลงแต่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง วงดนตรีนี้เล่นเพลงที่กลาสประพันธ์เอง ซึ่งระยะแรกไม่มีผู้สนใจฟังสักเท่าไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ฟังเริ่มสนใจและติดตามผลงานของกลาสมากขึ้น

          หลักการที่กลาสใช้ในการประพันธ์เพลง คือ การบรรเลงแนวทำนองหนึ่งซ้ำ ๆ กัน และเริ่มบรรเลงแนวทำนองต่อไป ซึ่งพัฒนามาจากทำนองเดิมโดยเพิ่มตัวโน้ตเข้าไปทีละ 2 ตัว และทำเช่นนี้เรื่อย ๆ ไปจนในที่สุดแนวทำนองเดิมจะกลายเป็นแนวทำนองใหม่ที่มีความยาวมากถึงกับมีตัวโน้ต 210 ตัว จากดั้งเดิมมี 8 ตัว

          ผลงานของกลาสมีมากมายหลายประเภททั้งโอเปร่า ดนตรีบรรเลงในแนวอีเลคโทรนิค เช่น Music Fifth, Music in Twelve Parts, Music with Changing Parts และโอเปร่า Einstein on the Beach และ Satyagrapha เป็นต้น




          กลาสสนใจศึกษาดนตรีของชนชาติและเผ่าต่าง ๆ ทั่วโลกและนำมาเป็นวัตถุดิบในการประพันธ์เพลง ผลงานของกลาสเป็นอีกสมัยหนึ่งของดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดสร้างสรรค์ของกลาสผู้ประพันธ์ที่ไม่หยุดอยู่กับที่ ผู้ซึ่งต้องการเสนอผลงานในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ฟังมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าความหมายที่แท้จริงของดนตรีอยู่ที่ใดแน่(ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :184)





ชาร์ลส์ ไอฟส์ (Charles Ives)
คาร์ล ออร์ฟ (Carl Orff)
โซลตัน โคดาย (Zaltán Kodály)
อันโตน เวเบิร์น (Anton Webern)
โอลิวิเยร์ เมสเซียง (Olivier Messiaen, ค.ศ. 1908-1992)
เอลเลียต คาร์เตอร์ (Elliott Carter, ค.ศ. 1908-ปัจจุบัน)
วิโทลด์ ลูโทสลาฟสกี้ (Witold Lutoslawski)
จอห์น เคจ (John Cage, ค.ศ. 1912-1992)
ปิแอร์ บูแลซ (Pierre Boulez, ค.ศ. 1925-ปัจจุบัน)
ลูชาโน เบริโอ (Luciano Berio, ค.ศ. 1925-2003)
ลุยจิ โนโน (Luigi Nono)
ยานนิส เซนาคิส (Iannis Xenakis, ค.ศ. 1922-2001)
มิลตัน แบ็บบิท (Milton Babbitt)
วอล์ฟกัง ริห์ม (Wolfgang Rihm)
อาร์โว แพรท (Arvo Pärt)
โซเฟีย กุไบดูลินา (Sofia Gubaidulina)
Giya Kancheli
ยอร์กี ลิเกตี (György Ligeti)
กชึชตอฟ แปนแดแรตสกี (Krzysztof Penderecki)
ยอร์กี เคอร์ทัค (György Kurtag)
เฮลมุต ลาเคนมานน์ (Helmut Lachenmann)
สตีฟ ไรค์ (Steve Reich)
จอห์น อดัมส์ (John Adams)
John Zorn
โตรุ ทาเคมิตสึ (Toru Takemitsu)
Tan Dun Chen Yi
Unsuk Chin


http://student.nu.ac.th/pick_ed/LESSON9.htm

6. ยุคอิมเพรสชั่นนิสติค (The Impressionistic)


          ในตอนปลายของศตวรรษที่ 19 จนถึงตอนต้นของศตวรรษที่ 20 (1890 - 1910) ซึ่งอยู่ในช่วงของยุคโรแมนติกนี้ มีดนตรีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยเดอบูสซี ผู้ประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศส ดนตรีอิมเพรสชั่นนิสติก ก่อให้เกิดความประทับใจ และแตกต่าง

          จากดนตรีโรแมนติกซึ่งก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ลักษณะทั่วๆไปของดนตรีอิมเพรสชั่นนิสติกนั้นเต็มไปด้วยจินตนาการที่เฟื่องฝัน อารมณ์ที่ล่องลอยอย่างสงบ และความนิ่มนวลละมุนละไมในลีลา ผู้ฟังจะรู้สึกเสมือนว่าได้สัมผัสกับบรรยากาศตอนรุ่งสางในกลุ่มหมอกที่มีแสงแดดอ่อนๆ สลัวๆ ถ้าจะกล่าวถึงในด้านเทคนิค

          ชื่ออิมเพรสชั่นนิสติค หรือ อิมเพรสชั่นนิซึมนั้น เป็นชื่อยุคของศิลปะการวาดภาพที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยมี Monet, Manet และ Renoir เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเป็นศิลปะการวาดภาพที่ประกอบด้วยการแต้มแต่งสีเป็นจุดๆ มิใช่เป็นการระบายสีทั่วๆ ไป แต่ผลที่ได้ก็เป็นรูปลักษณะของคนหรือภาพวิวได้ ทางดนตรีได้นำชื่อนี้มาใช้ ผู้ประพันธ์เพลงในแนวนี้นอกไปจากเดอบูสซีแล้วยังมี ราเวล ดูคาส เดลิอุส สตราวินสกี และโชนเบิร์ก (ผลงานระยะแรก) เป็นต้น





          ดนตรีอิมเพรสชั่นนิสติกได้เปลี่ยนแปลงบันไดเสียงเสียใหม่แทนที่จะเป็นแบบ ไดอะโทนิค (Diatonic) ซึ่งมี 7 เสียงอย่างเพลงทั่วไป กลับเป็นบันไดเสียงที่มี 6 เสียง โดยการใช้ลักษณะของบันไดเสียงแบบเสียงเต็ม (ซึ่งระยะห่างหนึ่งเสียงเต็มตลอด) เรียกว่า “โฮลโทนสเกล” (Whole – tone Scale) ทำให้เกิดลักษณะของเพลงอีกแบบหนึ่งขึ้น เนื่องจากลักษณะของบันไดเสียงแบบเสียงเต็มนี้เองทำให้เพลงในยุคนี้มีลักษณะ ลึกลับ ไม่กระจ่างชัด เพราะคอร์ดที่ใช้จะเป็นลักษณะของอ๊อกเมนเต็ด (Augmented)

          นอกจากนี้คอร์ดทุกคอร์ดยังเคลื่อนไปเป็นคู่ขนานที่เรียกว่า “Gliding Chords” และส่วนใหญ่ของบทเพลงจะใช้ลีลาที่เรียบๆ และนุ่มนวล เนื่องจากลักษณะของบันไดเสียงแบบเสียงเต็มนี้เองบางครั้งทำให้เพลงในสมัยนี้มีลักษณะลึกลับไม่กระจ่างชัด ลักษณะของความรู้สึกที่ได้ จากเพลงประเภทนี้จะเป็นลักษณะของความรู้สึก “คล้าย ๆ ว่าจะเป็น…” หรือ “คล้ายๆ ว่าจะเหมือน…” มากกว่าจะเป็นความรู้สึกที่แน่ชัดลงไปว่าเป็นอะไร (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :174)




          เดอบุสชี ได้กล่าวถึงลักษณะดนตรีสไตล์อิมเพรสชั่นนิสติกไว้ว่า…“สำหรับดนตรีนั้น ข้าพเจ้าใคร่จะให้มีอิสระ ปราศจากขอบเขตใดๆ เพราะในสไตล์นี้ดนตรีก้าวไปไกลกว่าศิลปะแขนงอื่นๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ มาบังคับให้ดนตรีต้องจำลองธรรมชาติออกมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ดนตรีนี้แหละจะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับจินตนาการที่เร้นลับมหัศจรรย์บางอย่างออกมาเอง”


ประวัติผู้ประพันธ์เพลง

1. โคล้ด-อะชิล เดอบูซี (Claude-Achille Debussy ค.ศ.1862-1918)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศส เกิดที่ St.Germain – en – Laye เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1862 มีชีวิตอยู่ในปารีสเป็นส่วนใหญ่ เขาเริ่มเรียนเปียโนกับมาดาม Maute de Fleurville ลูกศิษย์ของโชแปง (Frederic Chopin) ต่อมาได้เรียนดนตรีในสถาบันดนตรีปารีส เขาเป็นคนที่มีความสงสัยในกฎเกณฑ์ทฤษฎีต่างๆ ที่สถาบันสอนให้อยู่เสมอ เวลาทำแบบฝึกหัดก็มักฝ่าฝืนกฎทุกๆ ครั้ง เดอบุสซีใช้การประสานเสียงที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเองจากการที่เดอบุสซีมีความประทับใจในสิ่งต่างๆ เขาสามารถนำเข้ามาใช้กับดนตรีเป็นความประทับใจที่เศร้าซึม เหมือนฝันและเต็มไปด้วยบรรยากาศต่างๆ


ผลงานที่มีชื่อเสียง
- Nocturnes : Holidays 1899 เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นจากความประทับใจในเมฆ
- Sirens เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นจากความประทับใจนกในนิยายกรีก
 - Clair de lune (Moon light) 1905 เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นจากความประทับใจในแสงจันทร์
- The sea (la mer)1905 เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นจากความประทับใจในทะเลเดี๋ยวราบสงบหรือพริ้วเป็นระลอก ไม่ได้เขียนเพื่อบรรยายภาพทะเล





2. มอริส ราเวล (Maurice Ravel,1875-1937)




          เกิดวันที่ 7 มีนาคม 1875 ที่ Ciboure ใกล้กับ St.Jean de Luz ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเกือบติดเขตแดนสเปญ เริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เรียน การประสานเสียงอายุ 11 ขวบและเข้าศึกษาในสถาบันดนตรีแห่งปารีส (Paris Conservatory) อายุ 14 ขวบเป็นเพื่อนกับเดอบุสซี ราเวลมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับเดอบุสซีอยู่บ่อยๆ แต่อันที่จริงแล้วดนตรีของทั้งสองต่างกันมากในสิ่งที่เรียกว่า “สไตล์” ถึงแม้ว่าราเวลจะถูกจัดว่าเป็นคีตกวีในสมัยอิมเพรสชั่นคนหนึ่ง แต่ดนตรีของเขามีสีสันไปทางคลาสสิกมากกว่าอย่างไรก็ตามราเวลก็มีชีวิตอยู่ระหว่างปลายสมัยดนตรีอิมเพรสชั่นกำลังเติบโตเต็มที่คนหนึ่ง

          ชีวิตส่วนตัวของราเวลเขาไม่เคยแต่งงานเลยทั้งๆ ที่พบปะคุ้นเคยกับสตรีมากมายเช่นเดียวกับเกิร์ชวินซึ่งก็ไม่ได้แต่งงานเหมือนกัน ราเวลเป็นคนร่างเล็ก แต่งตัวดีอย่างไม่มีที่ติแต่ชีวิตของเขาไม่ฟู่ฟ่า มีนิสัยชอบสันโดษอย่างมาก สำหรับเขา “ความสำเร็จ” กับ “อาชีพ” ดูเหมือนว่าจะคนละอย่างกัน ยิ่งประชาชนเพิ่มความนิยมชมชอบเขามากเท่าไรแต่เขากลับทำตัวธรรมดามากขึ้น เขาสร้างดนตรีเพราะต้องทำ ไม่เคยสร้างดนตรีเพราะต้องการความก้าวหน้าหรือเพื่อหาเงิน ไม่มีความเป็นนักธุรกิจเลยแม้แต่น้อยไม่ต้องการแม้แต่จะหาลูกศิษย์สอนเพื่อจะได้เงิน เขามีรายได้จากงานประพันธ์และการแสดงดนตรีแค่พอมีชีวิตอยู่อย่างสบายๆ พอประมาณเท่านั้น ลักษณะเด่นของราเวล คือ การเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตรา




ผลงานที่มีชื่อเสียง
- Pavane for a Dead Princess 1899 ดนตรีหวานซึ้งราบเรียบนุ่มนวลชวนฟังให้จิตใจสงบ
- String Quartet 1903, Introduction and Allegro 1905
- Daphnis et Chloe : Suite No. 2 1909-12, 
- The Waltz 1920,
- Bolero 1928 ทำนองแบบสเปนดนตรีเริ่มจากเบาที่สุด แต่ละท่อนไม่ยาวเกินไป ใช้สีสันของเสียงจากการเปลี่ยนเครื่องดนตรี ให้ความรู้สึกค่อนข้างเย้ายวนและร้อนแรงในช่วงท้าย



ที่มา : http://student.nu.ac.th/pick_ed/LESSON8.htm

5. ยุคโรแมนติก (The Romantic Period)




          ความหมายของคำว่า “โรแมนติก” กว้างมากจนยากที่จะหานิยามสั้นๆ ให้ได้ ในทางดนตรีมักให้ความหมายว่า ลักษณะที่ตรงกันข้ามกับดนตรีคลาสสิก กล่าวคือ ขณะที่ดนตรีคลาสสิกเน้นที่รูปแบบอันลงตัวแน่นอน (Formality)โรแมนติกจะเน้นที่เนื้อหา (Content) คลาสสิกเน้นความมีเหตุผลเกี่ยวข้องกัน (Rationalism) โรแมนติกเน้นที่อารมณ์ (Emotionalism) และคลาสสิกเป็นตัวแทนความคิด แบบภววิสัย (Objectivity) โรแมนติกจะเป็นตัวแทนของอัตวิสัย (Subjectivity)


นอกจากนี้ยังมีคำนิยามเกี่ยวกับดนตรีสมัยโรแมนติก ดังนี้
- คุณลักษณะของการยอมให้แสดงออกได้อย่างเต็มที่ซึ่งจินตนาการ อารมณ์ที่หวั่นไหว และความรู้สึกทางใจ 
- ในดนตรีและวรรณกรรม หมายถึง คำที่ตรงกันข้ามกับคำว่า “Classicism” เสรีภาพที่พ้นจากการเหนี่ยวรั้งทางจิตใจ หรือจารีตนิยมเพื่อที่จะกระทำการในเรื่องใด ๆ

          สมัยโรแมนติกเริ่มต้นขึ้นในตอนต้นของศตวรรษที่ 19 แต่รูปแบบของดนตรีโรแมนติกเริ่มเป็นรูปแบบขึ้นในตอนปลายของศตวรรษที่ 18 แล้วโดยมีเบโธเฟนเป็นผู้นำ และเป็นรูปแบบของเพลงที่ยังคงพบเห็นแม้ในศตวรรษที่ 20 นี้ สมัยนี้เป็นดนตรีที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ประพันธ์อย่างมาก ผู้ประพันธ์เพลงในสมัยนี้ไม่ได้แต่งเพลงให้กับเจ้านายของตนดังในสมัยก่อนๆ ผู้ประพันธ์เพลงแต่งเพลงตามใจชอบของตน และขายต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ ลักษณะดนตรีจึงเป็นลักษณะของผู้ประพันธ์เอง



ลักษณะทั่วๆไปของการดนตรีในสมัยโรแมนติก (ไขแสง ศุขะวัฒนะ. 2535:111)

1. คีตกวีสมัยนี้มีความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิด อย่างมีอิสระ ไม่จำเป็นต้องสร้างความงามตามแบบแผนวิธีการ และไม่ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ใดทั้งนี้เพราะเขาไม่ได้อยู่ ในความอุปภัมภ์ของโบสถ์ เจ้านาย และขุนนางเช่นคีตกวีสมัยคลาสสิกอีกต่อไป

 2. ใช้อารมณ์ และจินตนาการเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน

 3. ลักษณะที่เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “ลัทธิชาตินิยม” (Nationalism)

 4. ลักษณะที่ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “ลัทธินิยมเยอรมัน” (Germanism)

 5. ลักษณะภายในองค์ประกอบของดนตรีโดยตรง 

5.1 ทำนอง ลีลาและบรรยากาศของทำนองเน้นความรู้สึก และอารมณ์ของบุคคลมากขึ้นมีแนวเหมือนแนวสำหรับขับร้องมากขึ้น และความยาวของวลี (Phrase) ก็เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่จำกัด 

5.2 การประสานเสียง โครงสร้างของคอร์ดและลำดับการใช้คอร์ด มีเสรีภาพมากขึ้นการใช้คอร์ด 7 คอร์ด 9 อย่างมีอิสระ และการย้ายบันไดเสียงแบบโครมาติค (Chromatic Modulation) มีบทบาทที่สำคัญ

 5.3 ความสำคัญของเสียงหลัก (Tonality) หรือในคีย์ยังคงมีอยู่ แต่เริ่มคลุมเครือหรือเลือนลางไปบ้าง เนื่องจากบางครั้งมีการเปลี่ยนบันไดเสียงออกไปใช้บันไดเสียงที่ เป็นญาติห่างไกลบ้าง หรือ Chromatic Modulation

 5.4 พื้นผิว ในสมัยนี้โฮโมโฟนียังคงมีความสำคัญมากกว่าเคาน์เตอร์พอยท์ 

5.5 ความดังเบาของเสียง (Dynamics) ในสมัยนี้ได้รับการเน้นให้ชัดเจนทั้งความ ดัง และความเบาจนเป็นจุดเด่นจุดหนึ่ง


          ดนตรีสมัยนี้เริ่มประมาณปี ค.ศ. 1820 – 1900 ถือว่าเป็นยุคทองของดนตรี ดนตรีมิได้เป็นเอกสิทธิ์ของผู้นำทางศาสนาหรือการปกครอง ได้มีการแสดงดนตรี (Concert) สำหรับสาธารณชนอย่างแพร่หลาย นักดนตรีแต่ละคนมีโอกาสแสดงออกซึ่งความรู้สึกของตนเองได้เต็มที่ และต้องการสร้างสไตล์การเขียนเพลงของตนเองด้วย ทำให้เกิดสไตล์การเขียนเพลงของแต่ละท่านแตกต่างกันอย่างมาก ในยุคนี้ใช้ดนตรีเป็นเครื่องแสดงออกของอารมณ์อย่างเต็มที่ ทุกๆ อารมณ์สามารถถ่ายทอดออกมาได้ด้วยเสียงดนตรีอย่างเห็นได้ชัด ดนตรีในยุคนี้จึงไม่คำนึงถึงรูปแบบ และความสมดุล แต่จะเน้นเนื้อหา ว่าดนตรีกำลังจะบอกเรื่องอะไร ให้อารมณ์อย่างไร เช่น แสดงออกถึงความรัก ความโกรธ ความเศร้าโศกเสียใจ หรือความกลัว ด้านเสียงประสานก็มักจะใช้คอร์ดที่มีเสียงไม่กลมกลืน เช่น ดอร์ดโครมาติค (Chromatic Chord) หรือ คอร์ดที่มีระยะขั้นคู่เสียงกว้างมากขึ้นๆ เช่น คอร์ด 7,9 หรือ 11 นอกจากจะแสดงถึงอารมณ์แล้ว คีตกวียังชอบเขียนเพลงบรรยายธรรมชาติเรื่องนิยายหรือความคิดฝันของตนเอง โดยพยายามทำเสียงดนตรีออกมาให้ฟังได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่กำลังบรรยายมากที่สุด เพลงที่มีแนวเรื่องหรือทิวทัศน์ธรรมชาติเป็นแนวการเขียนนี้เรียกว่า ดนตรีพรรณนา (Descriptive Music) หรือ โปรแกรมมิวสิค (Program Music) สำหรับบทเพลงที่คีตกวีได้พยายามถ่ายทอดเนื้อความมาจากคำประพันธ์หรือบทร้อยกรอง (Poem) ต่างๆ แล้วพรรณนาสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยเสียงของดนตรีอย่างเหมาะสมนั้น จะเรียกบทเพลงแบบนี้ว่า ซิมโฟนิคโพเอ็ม (Symphonic Poem) ต่อมาภายหลังเรียกว่า โทนโพเอ็ม (Tone Poem)

          ในยุคนี้เป็นสมัยชาตินิยมทางดนตรีด้วย (Nationalism) คือ คีตกวีจะแสดงออกโดยใช้ทำนองเพลงพื้นเมืองประกอบไว้ในเพลงที่แต่งขึ้น หรือแต่งให้มีสำเนียงของชาติตนเองมากที่สุด โดยใช้บันไดเสียงพิเศษของแต่ละชาติ ซึ่งเป็นผลให้คนในชาติเดียวกันเกิดความรักใคร่กลมเกลียวกัน รักชาติบ้านเมืองเกิดความหวงแหนทุกสิ่งทุกอย่างบนแผ่นดินที่อาศัยอยู่ เช่น ซีเบลิอุส (Jean Sibelius) แต่งเพลง ฟินแลนเดีย (Finlandia) โชแปง (Frederic Chopin) แต่งเพลง มาซูกา (Mazurka) และโพโลเนียส (Polonaise) นอกจากนี้ยังมีคีตกวีชาติอื่นๆ อีกมาก


คีตกวีที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ ได้แก่

1. จิอะซิโน รอสชินี (Gioacchino Rossini,1792-1868)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวอิตาเลียน เกิดเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1792 ที่เมืองเปซาโร (Pesaro) เรียนดนตรีครั้งแรกกับพ่อและแม่ซึ่งพ่อเป็นผู้เล่นฮอร์น และทรัมเปต ส่วนแม่เป็นนักร้องที่มีเสียงใสต่อมาจึงได้เรียนการประพันธ์ดนตรีแบบเคาน์เตอร์พอยท์ อย่างจริงจังกับTesei และ Mattei ที่เมืองโบโลญา (Bolongna) รอสชินีมีชื่อเสียงจากการประพันธ์โอเปร่า และโอเปร่าชวนหัวมีแนวการแต่งเพลงแบบค่อย ๆ พัฒนาความสำคัญของเนื้อหาดนตรีทีละน้อยไปจนถึงจุดสุดยอดในที่สุด


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          ผลงานโอเปร่าของรอสชินีได้แก่ La Scala di Seta, La Gazza Ladra, La Cenerentola, Semiramide, The Baber of Seville และ William Tell



2. ฟรานช์ ชูเบิร์ท (Franz Schubert,1797-1828)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวออสเตรีย เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ 1797 มีชีวิตอยู่ในเวียนนาจนกระทั่งถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1828 พ่อชื่อฟรานช์ ธีโอดอร์ ชูเบิร์ท (Franz Theodor Schubert) แม่ชื่อมาเรีย เอลิซาเบ็ธ วิทซ์ (Maria Elisabeth Vietz) พ่อมีอาชีพเป็นครูและเป็นนักเชลโลสมัครเล่นที่มีฝีมือดีคนหนึ่งและพ่อเป็นคนแรกที่เป็นผู้ปลูกฝังนิสัยทางดนตรีให้แก่ชูเบิร์ท

          ขณะที่ชูเบิร์ทมีอายุได้ 5 ขวบ พ่อก็เริ่มสอนวิชาเบื้องต้นให้ พออายุได้ 6 ขวบ ก็เข้าโรงเรียนประถมที่พ่อของเขาสอนอยู่ และก็ได้เริ่มฝึกหัดเปียโนบ้างเมื่ออายุ 8 ขวบพ่อก็สอนไวโอลิน และทำการฝึกซ้อมให้อย่างสม่ำเสมอ ในไม่ช้าเขาก็สามารถเล่นเพลงดูเอท (Duet) อย่างง่าย ๆ ได้อย่างดี ตลอดช่วงชีวิตสั้น ๆ ของชูเบิร์ทเพียง 31 ปี แทบไม่เคยได้รับการยกย่องในฐานะผู้ประพันธ์เพลงแต่อย่างใดเขาได้ทิ้งผลงาน ซิมโฟนี 8 เพลง สตริงควอเตท 19 เพลงเปียโนโซนาต้า 21 เพลง และอื่น ๆ อีกกว่า 600


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          Symphony No.5 in B flat:First movement 1816, Great C Major Symphony, Unfinished Symphony (ชูเบิร์ทยังประพันธ์ไม่เสร็จเพราะถึงแก่กรรมก่อน), String Quartet No. 13 in A minor : Second movement 1823, Rosam under : incidentat Music(ใช้ประกอบการแสดงบัลเลย์)



3. เฮกเตอร์ เบร์ลิโอส (Hector Berlioz,1803-1869)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศส เกิดใกล้เมืองลีอองส์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1803 เป็นผู้หนึ่งที่พัฒนารูปแบบของดนตรีโรแมนติกหลังจากที่เบโธเฟนบุกเบิกไว้ เบร์ลิโอสเกิดมาในตระกูลผู้มีอันจะกินพ่อเป็นแพทย์เบร์ลิโอสเริ่มหัดเป่าขลุ่ยในวัย 12 ขวบ โดยมีพ่อเป็นครูคนแรก และต่อมาก็จ้างครูคนอื่น ๆ มาสอนครูคนล่าสุดซึ่งสอนกีต้าร์อยู่ไม่นานก็บอกกับพ่อว่าเขาเล่นได้ดีกว่าตัวคนสอนเสียอีก ตัวพ่อเองไม่อยากให้เขาเรียนเปียโน เพราะไม่อยากให้เบร์ลิโอสจริงจังกับดนตรีมากเกินไปซึ่งจะทำให้ผิดเป้าหมายของพ่อที่ต้องการให้เขาเรียนหมอ บ่อยครั้งที่เขารู้สึกว่าตัวเองขาดความสามารถในทางคีย์บอร์ดไปซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนี้ทำให้เขาไม่มั่นใจในการประพันธ์เพลงแต่ต่อมาเขาก็พยายามหาความรู้จนสามารถทำได้ดี (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์, 2535 :94)

          ชีวิตที่หักเหจากเขาได้ไปเรียนแพทย์ตามที่พ่อต้องการได้ไม่นานเบร์ลิโอสไม่ได้มีความสนใจเรียนหมอเลยนอกจากสนใจอยู่กับสมุดโน้ตดนตรีเพียงอย่างเดียว เขาจึงเรียนไปไม่ตลอด เขาตัดสินใจเบนเข็มชีวิตมุ่งสู่โลกแห่งดนตรีอย่างจริงจัง แม้ชื่อเสียงจะยังไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปแต่เขาก็รู้สึกว่าตนมีชีวิตแนบแน่นกับดนตรี

          เบร์ลิโอสหลงรักนักแสดงอุปรากรชื่อ ฮาร์เรียต สมิธสัน ตอนแรกเธอเห็นเป็นเรื่องตลก เพราะเบร์ลิโอสสารภาพรักอย่างสายฟ้าแลบทันทีที่เข้าถึงตัวทั้ง ๆ ที่เขาทั้งสองไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ฝ่ายหญิงไม่เล่นด้วยจึงทำให้เขาผิดหวังอกหัก ความผิดหวังครั้งนี้เป็นต้นเหตุทำให้เขาแต่งเพลง “ซิมโฟนี ฟานทาสติค” (Symphonie Fantastique) ในที่สุดเขาก็ได้แต่งงานกับฮาร์เรียต สมิธสัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1833 มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน

          สำหรับเบร์ลิโอสแล้วเขาเป็นคนช่างฝัน เขาขาดความรักเป็นไม่ได้ หลังจากที่แยกทางกับ ฮาร์เรียต แล้ว เขาแต่งงานอีกครั้งกับ มารี (Marie Recio) หลังจากนั้นไม่นานฮาร์เรียตก็สิ้นชีวิตเบร์ลิโอสดูเหมือนจะถูกกำหนดให้เลี้ยงชีพด้วยความรักมีอยู่ 2 สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขาจึงหนีไม่พ้นดนตรีกับความรักแค่นี้เขาก็อยู่ได้ เบร์ลิโอสถึงแก่กรรมด้วยโรคลำไส้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1869 ในกรุงปารีส ตลอดชีวิตของเขา ความรักคืออาหารและของแสลงในเวลาเดียวกัน ผลงานของเขาจึงออกมาในลักษณะของภาพเหตุการณ์ในชีวิตที่ขมขื่นเป็นส่วนมาก แม้ในปลายชีวิตฐานะของเขาค่อนข้างดี แต่มันก็ไม่มีความหมายสำหรับเขามากนัก เขาประพันธ์ดนตรีด้วยอารมณ์ส่วนตัวมากกว่าจะคำนึงถึงคนฟัง แต่ผลงานของเขาก็ยังได้รับความนิยมจากผู้ฟังจนกระทั่งปัจจุบันบทประพันธ์ของเบร์ลิโอสมีลักษณะเด่นอยู่ 2 ประการคือ การเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตราและผลงานระดับใหญ่เสมอ เขาไม่สนใจกับการแต่งเพลงให้เครื่องดนตรีเดี่ยว


 


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          Symphonic fantastique : First movement 1830(เป็นซิมโฟนีที่แต่งขึ้นจากความชอกช้ำที่ถูกปฏิเสธความรัก), Harold in Italy : Pilgrims'March 1834, Dramatic Symphony 1838 ,Roman Carnival 1844,Hungarian March 1848,The Pirate 1854



4. เฟลิกซ์ เมนเดลโซห์น (Felix Mendelssohn,1809-1847)




          ผู้อำนวยเพลงและผู้ประพันธ์เพลงชาวเยอรมันเกิดที่เมือง ฮามบวร์ก (Hamburg) เป็นลูกคนที่ 2 และเป็นลูกชายคนโต พ่อชื่อ อับราฮัม เมนเดลโซห์น (Abrahum Mendelssohn) เป็นนายธนาคารผู้มั่งคั่งแม่ชื่อ ลีห์ ซาโลมอน (Leah Salomon) ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าคนอย่างเมนเดลโซห์นจะดำเนินชีวิตไปในแบบของศิลปินทางดนตรีและประพันธ์เพลงจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลกเนื่องจากในอดีตเราจะพบว่าผู้ที่ดำเนินชีวิตแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนยากจนค่นแค้นมีความเป็นอยู่ที่แสนลำบากยากเข็ญแทบทุกคนแต่เมนเดลโซห์นเขาใช้ความร่ำรวยของเขาไปใช้ในทางสร้างสรรค์ความสุขให้แก่มวลมนุษย์ ด้วยเสียงเพลงซึ่งชื่อเฟลิกซ์ (Felix) เป็นคำภาษาลาตินแปลว่า “ความสุข” (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :164)

          ชีวิตของเมนเดลโซห์นเป็นชีวิตที่สบายเกินกว่านักดนตรีหรือผู้ประพันธ์เพลงทั่วไปจะมีแต่ว่าสังขารหรือสุขภาพของเขาไม่สู้จะดีนักในช่วงอายุประมาณ 30 กว่า ๆ และพออายุได้ 38 ปี พี่สาวซึ่งเป็นที่รักของเขาที่ชื่อแฟนนี่เสียชีวิตลง เขาเสียใจมากทำให้สุขภาพทรุดหนักลงไปอีกจนในที่สุดเขาก็ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1847 คงเหลือไว้แด่เพียงผลงานที่เขาได้ทุ่มเทเวลาสร้างมันขึ้นมาไว้เป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลังๆ ได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป แนวการประพันธ์ของเมนเดลโซห์นยึดรูปแบบของคลาสสิกโดยผสมผสานกับความรู้สึกโรแมนติกจากตัวเขาเอง




ผลงานที่มีชื่อเสียง

          Hebrides Overture 1830, Scottish Symphony : Second movement 1842, A Midsummer Night's Dream 1843,Violin Concerto in E minor 1844 , Song without Words 1845



5. เฟรเดอริก ฟรองซัวส์ โชแปง (Frederic Francios Chopin, 1810-1849)




          ผู้ประพันธ์เพลงและนักเปียโนเลือดผสมฝรั่งเศส - โปแลนด์ เกิดที่หมู่บ้านเซลาโซวา โวลา (Zelazowa Wola) ใกล้ กรุงวอร์ซอว์ (Warsaw) ประเทศโปแลนด์ (Poland) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1810 โชแปงเกิดในประเทศโปแลนด์ แต่ใช้ชีวิตตั้ง แต่วัยหนุ่มอยู่ในปาริสจนถึงแก่กรรม วันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1849 โชแปงมีพี่น้องผู้หญิงอีก 3 คน ส่วนเขาเป็นลูก ผู้ชายคนเดียว พ่อแม่จึงรักมากโชแปงเป็นคนที่มี รูปร่างบอบบางจิตใจอ่อนไหวง่ายมีความรักชาติมากตั้งแต่เด็กๆ จนเป็นแรงบันดาลใจให้เขาประพันธ์ดนตรีสำหรับเปียโนไว้มากมาย

          โชแปงเริ่มเรียนเปียโนเมื่ออายุ 7 ขวบ กับครูดนตรีชื่อ อดาลแบต์ ซิวนี (Adalbert Zywny) ชาวโบฮีเมีย เนื่องจากครูคนนี้ชอบดนตรีของบาค โมสาร์ท และเบโธเฟน เป็นพิเศษจึงถ่ายทอดความคิดของเขาให้โชแปง ต่อจากนั้นโชแปงได้เรียนกับครูคนใหม่ชื่อโยเซฟ เอ็ลสเนอร์ (Joseph Elsner) จนกระทั่งอายุได้ 16 ปี ก็เข้าสถาบันดนตรีแห่งวอร์ซอว์ ซึ่งเอ็ลสเนอร์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ ณ จุดนี้เองที่ทำให้โชแปงเรียนดนตรีอย่างเต็มที่ (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์, 2535 :105)

          ในสมัยนั้นเป็นช่วงของการอภิวัฒน์ทางศิลป์ และศิลปินเริ่มมีความสำคัญต่อสังคมมากขึ้น ทั้งนักดนตรี นักวาดรูป และนักประพันธ์ สามารถสมาคมกับข้าราชการหรือเจ้านายชั้นสูงในฐานะเท่าเทียมกัน โชแปงได้รับเชิญไปบรรเลงเปียโนเสมอมาจากการบรรเลงนี้รวมทั้งการสอนดนตรี ทำให้โชแปงสามารถช่วยตัวเองให้ดำรงอยู่ได้

          ชื่อเสียงของโชแปงโด่งดังเพราะเขาได้พัฒนาบทเพลงสั้น ๆ สำหรับเปียโนหรือที่เรียกกันว่า “Character Piece” และมักจะพิมพ์เป็นชุด ๆ เช่น 24 preludes หรือ 12 ededes เป็นต้นและ แต่ละเพลงสั้นกว่าโซนาตา (Sonata) หรือบัลลาด (Ballade) มากแต่เรื่องอารมณ์เพลงแล้วกว้างขวางมากซึ่งโชแปงแสดงอารมณ์เพลงโดยใช้ลักษณะการประสานเสียงและใช้ทำนองเพลง

          โชแปงเป็นคนที่มีสุขภาพไม่สู้จะดีนักมีอาการเจ็บป่วยหลาย ๆ ครั้งจนครั้งสุดท้ายเขาเกิดอาการไอจนเป็นเลือดแต่นายแพทย์ก็ช่วยไว้ได้จนในที่สุดช่วงใกล้จะถึงแก่กรรมด้วยความรัก แผ่นดินเกิดโชแปงได้ขอร้องให้เอาก้อนดินจากโปแลนด์ที่ครูและเพื่อน ๆ ให้มาเมื่อวันจากวอร์ซอว์นั้นมาจูบเป็นครั้งสุดท้ายและขอให้ทำพิธีต่าง ๆ ทางศาสนาแบบคริสเตียนได้ขอร้องให้เพื่อน ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดตอนนี้ให้พิมพ์บทเพลงของเขาที่ยังไม่ได้พิมพ์นั้นด้วย เวลาเขาตายแล้วให้เล่นเพลง เรควิเอม (Requiem) ของโมสาร์ทในงานศพของเขาด้วยกับให้เล่นเพลง Funeral March from the Sonata,Opus 35 the E minor และ B minor Preludes โดยใช้ออร์แกน

          ก่อนสิ้นใจเขาขอให้พี่สาวเผาผลงานที่ไม่ดีของเขาทิ้งเสียให้หมด “ ฉันเป็นหนี้ประชาชนและตัวฉันเองที่จะต้องพิมพ์แต่ผลงานที่ดีเท่านั้น ฉันได้ตลอดชีวิต และปรารถนาที่จะรักษาความตั้งใจ นั้นไว้ ณ บัดนี้” แต่ไม่มีใครเอาใจใส่กับคำขอร้องนั้นเลย

          โชแปงทนทรมานอยู่จนเกือบใกล้รุ่งของวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1849 จึงได้สิ้นใจด้วยวัณโรคด้วยอายุได้เพียง 39 ปี ท่ามกลางความอาลัยรักของญาติมิตรสหายและลูกศิษย์ ศพของเขาฝังไว้ที่ Pere – Lachaise พร้อมกับก้อนดินของโปแลนด์ก้อนนั้น ดนตรีของโชแปงเป็นดนตรีโรแมนติกตามความหมายโดยแท้ๆ เป็นดนตรีที่แสดงอารมณ์ของผู้ประพันธ์อย่างอิสระ





ผลงานที่มีชื่อเสียง

          ผลงานของโชแปงแทบทั้งหมดเป็นประเภทดนตรีสำหรับเปียโน ดนตรีของโชแปงเป็นดนตรีที่แสดงออกถึงความรู้สึกโรแมนติกซึ่งเต็มไปด้วยความสวยงามและการกลั่นกรองให้เป็นผลงานคุณภาพทั้งสิ้น ผลงานที่เด่นประกอบด้วย Ballade No.1 in G minor,Berceuse in D flat, Funeral March Piano Concerto No.1 in Em 1830, Twelve Etudes in Gb 1830, Mazurka in Cm 1830-49, Nocturne in C Sharp minor,Nocturne in Eb 1830-46 , Waltz in E flat





6. โรเบิร์ท ชูมานน์ (Robert Schumann, 1810-1856)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวเยอรมันเกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ 1810 ที่เมือง Zwickau แคว้นแซ็กโซนี (Saxony) ซึ่งห่างจากเมืองไลพ์ซิกประมาณ 40 ไมล์ เป็นลูกคนเล็กของฟรีดริค ออกัสท์ ชูมานน์ (Friedrich August Schumann) เป็นเจ้าของร้านขายหนังสือ

          ชูมานน์เกิดในปีเดียวกันกับโชแปง เขาเริ่มฉายแววแห่งความเป็นนักดนตรีตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และสามารถแต่งเพลงได้เมื่ออายุ 7 ขวบ ทำให้ผู้เป็นพ่อภูมิใจมาก เขาจึงให้ชูมานน์เริ่มเรียนดนตรีอย่างจริงจังขณะอายุได้ 8 ขวบ โดยเรียนกับ Johann Gottfried Kuntzsch ซึ่งเป็นนักออร์แกนที่มีชื่อเสียง

          พออายุ 15 มีโอกาสแสดงฝีมือเดี่ยวเปียโนที่โรงแสดงดนตรีและโรงเรียนท้องถิ่นที่เรียนอยู่ ปรากฏว่าได้รับความชมเชยจากผู้ฟังไม่น้อย ความจริงแล้วผู้เป็นพ่อตั้งใจให้ชูมาน์เป็นนักกฎหมายแต่เขาต้องการเป็นนักดนตรีและเขาก็ทำได้สำเร็จ เขาถือว่าเป็นนักดนตรีในสมัยโรแมนติกที่สร้างสรรค์ผลงานดีเด่นในรูปแบบของสมัยนี้ผู้หนึ่ง พ่อเสียชีวิตไปก่อนแต่เขาก็ไม่สามารถเป็นนักเปียโนได้ดังใจนึกเพราะเขาประสบอุบัติเหตุ นิ้วนางข้างขวาไม่ทำงานชูมานน์มีความสามารถในการเขียนหนังสือซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพ่อที่มีร้านขายหนังสือ

          เขาเริ่มเป็นนักเขียนและเป็นบรรณาธิการออกวารสารดนตรีชื่อ Neue Zeits chrift fur Musik (New Music Journal) เป็นวารสารที่มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านพวกที่ทำลายดนตรีเพราะเห็นแก่ได้ ซึ่งเป็นวารสารที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาให้ดนตรีสูงขึ้นนอกจากนี้ยังมีส่วนส่งเสริมนักดนตรีดีๆ หลายคนซึ่งกลายเป็นคีตกวีเอกของโลก เช่น เมนเดล โซห์น เบร์ลิโอส ลิสซต์ โชแปง บราห์มส์ ฯลฯ ชูมานน์เป็นบรรณาธิการอยู่นาน 10 ปี ภายหลังเขาต้องลาออกเพราะโรคประสาทกำเริบหนัก แต่เขียนบทความลงเสมอๆ อีกเกือบ 10 ปี




          นอกจากประพันธ์เพลงแล้วชูมานน์ยังเป็นนักวิจารณ์ดนตรีอีกด้วย ภรรยาของชูมานน์เป็นนักเปียโนและผู้ประพันธ์เพลง ช่วงประมาณปี ค.ศ.1854 ชูมานน์เริ่มอาการทางประสาท ซึ่งภรรยาเขามีส่วนช่วยเหลือพยาบาลชูมานน์ซึ่งป่วยเป็นโรคประสาทอย่างแรงถึงกับเคยฆ่าตัวตายแต่มีคนช่วยไว้ได้เมื่ออายุได้ 46 ปี อย่างไรก็ตามชีวิตหลังจากนั้นก็มืดมนไม่มีใครแก้ไขได้ ชูมานน์จึงถึงแก่กรรมในอีกสองปีต่อมา


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          Carnaral : Arlequin 1835, Scenes from Childhood : Dreaming 1838



7. ฟรานช์ ลิสซต์ (Franz Liszt, 1811,1886)




          นักเปียโนและ ผู้ประพันธ์เพลงชาวฮังกาเรียน แต่มีชีวิตตั้งแต่วัยเด็กในปารีส เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1811ที่เมืองไรดิง (Raiding) พ่อชื่อ อดัม ลิสซต์ (Adam Liszt) และแม่ชื่อแอนนา ลาเกอร์(Anna Lager) ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองทางออสเตรียตอนใต้ มีเชื้อสายเป็นชาวเยอรมัน พ่อของลิสซต์เป็นผู้ปลูกฝังดนตรีให้แก่เขา เมื่ออายุ 6 ขวบลิสซต์ ก็สามารถฮัมทำนองเพลงจากคอนแชร์โต้ชิ้นหนึ่งที่เขาได้ยินพ่อเล่น มันเป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่เด็กอายุขนาดนี้สามารถจำทำนองเพลงคอนแชร์โต้ได้ ความจริงคงไม่แปลกเท่าไรนักถ้าฮัมหลังจากที่พ่อของเขาเล่นจบลง แต่ลิสซต์ฮัมทำนองเพลงนี้หลังจากที่พ่อของเขาเล่นจบแล้วหลายชั่วโมงนั้นแสดงให้เห็นว่าความประทับใจที่มีต่อการแสดงดนตรีของพ่อมากกว่าจากความจำเพราะเด็กเพียง 6 ขวบยังคงจำความไม่ได้ถึงขนาดนี้

          ลิสซต์ได้มีโอกาสเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตหลาย ๆ แห่งเช่น กรุงปารีส กรุงลอนดอน กรุงเวียนนา กรุงมอสโคว์ และกรุงโรม จากการแสดงคอนเสิร์ต ของเขานี้เองทำให้เขามีประสบการณ์ชีวิตมากมายทั้งเรื่องดีและไม่ดี มีคนรู้จักและได้รู้จักผู้คนทั้งนักดนตรีเอกของโลกหลาย ๆ ท่านและได้แสดงความสามรถต่อหน้าสาธารณชนมากมาย ทั้งยังเป็นผู้ที่ผู้จัดตั้งสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ Liszt Academy of Music ณ นครบูตาเปชต์ ลิสซต์เป็นนักรักตัวฉกาจจนได้รับสมญาว่า “ดอนฮวน” (Don Juan) หรือจะเรียกเขาว่า “คาซาโนว่า” (Casanova) แห่งฮังการีก็ไม่ผิดนัก (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์,2535:124)

          ในบั้นปลายชีวิตคือตั้งแต่ ค.ศ. 1880 -1885 เขาได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจในการเป็นครูและในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของเขาล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีความสามารถทั้งสิ้นเช่น Felix Weingartner, Moriz Rosenthal, Frederic Lamond, Emil Sauer และ Alexander Siloti นอกจากนี้ยังมีสตรีชาวรัสเซียอีกคนชื่อ Baroness Olga Meyondoff (Princess Gorstchakow)

          จากการท่องเที่ยวและตรากตรำในการงานมากเกินไป ทำให้เขารู้สึกอ่อนเพลียไปทั่วสรรพางค์กาย และโรคภัยไข้เจ็บเริ่มเบียดเบียนวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1886 ขณะที่พำนักอยู่กับลูกสาว ณ เมืองไปรอยธ์ประเทศเยอรมัน เขาได้ป่วยเป็นไข้หวัดอย่างแรงและนิวมอเนีย (Pneumonia) เข้าแทรก จึงทำให้เขาถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1886 รวมอายุ 75 ปี ศพของลิสซต์ถูกฝังไว้ ณ เมืองไบรอยธ์


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          Piano Concerto No.1 in E flat Allegro maestoso 1830-49, Symphonic poem No.3 1848, Hungarian Rhapsody No. 2 1885



8. ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner, 1813-1883)



          ผู้ประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน เกิดที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1813 มีชื่อเดิมว่า วิลเฮล์ม ริชาร์ด วากเนอร์ (Wilhelm Richard Wagner) ต่อมาเมื่ออายุ 20 ปี จึงตัด คำว่า Wilhelm ออกคงเหลือแต่ Richard Wagner เป็นลูกคนที่ 9 ของครอบครัวพ่อชื่อ ฟริดริช วิลเฮ็ล์ม วากเนอร์ (Friedrich Wilhelm Wagner) มีอาชีพเป็นเสมียนอยู่ศาลโปลิศของท้องถิ่นแม่ชื่อ โจฮันนา โรซีน (Johanne Rosine Wagner) หลังจากวากเนอร์เกิดได้ 6 เดือน พ่อของเขาก็ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคระบาดจากนั้นแม่ก็ได้แต่งงานใหม่กับ ลุดวิก เกเยอร์ (Ludwig Gayer) ซึ่งเป็นนักแสดงละคร อาชีพและจิตรกร (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์,2535:137)

          วากเนอร์เริ่มเรียนเปียโนเมื่ออายุ 11 ขวบ กับ Humann แต่ตัวเขาเองมีความสนใจเกี่ยวกับอุปรากร (Opera) มากเพราะหลังจากที่เขาได้มีโอกาสเข้าชมอุปรากรของเวเบอร์ (Weber) เรื่อง De Freishutz แล้วก็รู้สึกประทับใจมาก ประกอบกับคลารา (Clara) และโรซาลี (Rosalie) พี่สาวของเขาเป็นนักร้องอุปรากรในคณะนั้นด้วย




          ปี ค.ศ. 1829 ขณะอายุ 16 ปี ก็เรียนไวโอลินและทฤษฎีดนตรี อายุ 17 ปี ได้ฟังเพลง ของเบโธเฟนอีกครั้งหนึ่งที่เมืองไลพ์ซิกมีเพลง Fidelio อันมีชื่อเสียงของเบโธเฟน จึงมีแรงบันดาลใจให้เขาเขียนเพลงโอเวอร์เจอร์ ในบันไดเสียงบีแฟลตเมเจอร์ (Overture in B – Flat Major) และได้นำออกแสดงในปีเดียวกัน การแสดงครั้งนั้นไม่ได้รับความสนใจมากนักต่อจากนั้นวากเนอร์พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งทางด้านการเรียบเรียงเสียงประสาน เคาน์เตอร์พอยท์ เป็นต้น จนเขาสามารถประพันธ์เพลงไว้มากมายและยังเป็นผู้ที่ปฏิวัติรูปแบบของโอเปร่าการเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตรา รวมทั้งแนวความคิดเกี่ยวกับด้านศิลปะและปรัชญาซึ่งมีอิทธิพลมากในสมัยที่เขายังมีชีวิต




          วากเนอร์เป็นคนที่ไม่ค่อยยอมลงกับใครหรือยกเว้นให้แก่ใครได้ง่ายๆ แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นพ่อ แม่ เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งกษัตริย์ก็ตาม เพราะฉะนั้นเพลงแต่ละเพลง อุปรากรแต่ละเรื่องของเขาในศตวรรษที่ 19 จึงฟังดูพิลึกๆ ชอบกล




          ชีวิตในบั้นปลายของวากเนอร์เป็นไปในทำนองต้นร้ายปลายดี เพราะเขาได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญกับโคสิมาภรรยาสาวซึ่งเป็นลูกสาวของเพื่อนนักดนตรีรุ่นพี่ คือ ฟรานซ์ ลิสซต์ จนกระทั่งเธอตายในวันเกิดครบรอบ 59 ปี ของวากเนอร์นั่นเอง ชาวเยอรมันได้วางศิลาฤกษ์ โรงละคร Festival Theater ขึ้นในเมือง Bayreuth และบ้าน Wahnfried ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่วากเนอร์และให้เป็นที่อยู่ของเขา เพราะชาวโลกได้ยอมรับแล้วว่า วากเนอร์เป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของโลก




ผลงานที่มีชื่อเสียง

          ผลงานที่เด่นประกอบด้วย The Mastersingers of Nuremberg : Prelude 1868Lohengrin : Bridal March 1850, Siegfried Idy II 1870, The Valkyries : Ride of the Valkyries 1870



9. จิอุเชปเป แวร์ดี (Giuseppe Verdi,1813-1901)




          ผู้ประพันธ์เพลงประเภทโอเปร่า ชาวอิตาเลียน เกิดที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในเมืองรอนโคล (Le Roncole) ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองบุสเซโต (Busseto) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1813 เป็นลูกชายของคาร์โล แวร์ดี (Carlo Verdi) และลุยเจีย (Luigia) เป็นผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับวงการเมืองของอิตาลีมาตลอดนอกเหนือจากเป็นนักดนตรี

          เมื่ออายุ 10 ขวบ พ่อได้ส่งเขาไปเรียนหนังสือที่เมืองบุสเซโต ซึ่งอยู่ห่างจากรอนโคลประมาณ 3 ไมล์ พ่อได้นำเขาไปฝากไว้กับเพื่อนที่สนิทคนหนึ่งมีอาชีพเป็นช่างซ่อมรองเท้าอยู่ในเมืองนั้นเมื่อมีเวลาว่างแวร์ดีมักจะไปขลุกอยู่กับแอนโตนิโอ บาเรสซี่ (Antonio Barezzi) เจ้าของร้านขายของชำผู้มั่งคั่งและที่สำคัญที่สุดก็คือที่นั่นมีแกรนด์เปียโนอย่างดีทำมาจากกรุงเวียนนา แวร์ดีมักจะมาขอเขาเล่นเสมอ ๆ เมื่อบาเรสซี่เห็นหน่วยก้านเด็กคนนี้ว่าต่อไปอาจจะเป็นนักดนตรีผู้อัจฉริยะ จึงรับมาช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆที่ร้านขายของชำของเขาในตอนเย็นหลังจากเลิกโรงเรียนแล้วจากนั้นไม่นานนักเขาก็ตัดสินใจรับเด็กน้อยแวร์ดีมาอยู่ที่ร้านและอยู่ในความอุปการะของเขา ที่นี่เองเด็กชายวัย 14 ขวบ ก็ได้เล่นเปียโนดูเอทคู่กับมาร์เกริตา (Margherita) เด็กหญิงวัย 13 ขวบ ซึ่งเป็นลูกสาวของบาเรสซี่นั่นเอง ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกันในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1836

          บาเรสซี่มักจะใช้เวลาส่วนมากมาคอยดูแลและนั่งฟังเด็กน้อยทั้งสองเล่นเปียโนด้วยความพอใจอย่างยิ่งเขาให้ความรักและสนิทสนมกับเด็กน้อยแวร์ดีอย่างลูกชายของเขาทีเดียว ผลงานส่วนใหญ่ของแวร์ดี คืออุปรากรหรือโอเปร่า (Opera) เพราะสมัยของแวร์ดีนั้น ชาวอิตาเลียนชอบชมอุปรากรมากแวร์ดีเป็นคนที่มีความเสียสละมาตลอดชีวิตเมื่อภรรยาและตัวเขาเองตายไปแล้วทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็ถูกนำไปใช้สร้างอาคารสงเคราะห์ให้เป็นที่พักอาศัยของนักดนตรีที่ยากจนนอกนั้นก็นำไปใช้สร้าง โรงแสดงดนตรีแวร์ดี (Verdi Concert Hall) และพิพิธภัณฑ์แวร์ดี (Verdi Museum) ในเมืองมิลาน เป็นอนุสาวรีย์เตือนชาวโลกให้รำลึกถึงเขาในฐานะคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ของ อิตาลี และของโลก การมรณกรรมของเขาจึงมิใช่เป็นการสูญเสียผู้ประพันธ์โอเปร่าที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          ผลงานโอเปร่าที่เด่นประกอบด้วย Nabucco : Chorus 1842, Macbeth : Aria from Act III 1847,La traviata 1853, Aida : Triumphal Scene 1871



อุปราการ La Traviata แสดงที่เวนิส ค.ศ. 1853 ที่มา : Microsoft Encarta' 95, 1995



10. โยฮันเนส บราห์มส์ (Johannes Brahms, 1833-1897)




          ผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นอีกคนหนึ่งชาวเยอรมัน แต่มาตั้งรกรากใช้ชีวิตนักดนตรีจนถึงแก่กรรม ณ กรุงเวียนนาเกิดที่เมืองฮามบวร์ก (Hamburg) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1833 บิดาชื่อ โยฮัน ยาค็อบ บราห์มส์ (Johann Jakob Brahms) ซึ่งเป็นนักดนตรีที่เล่นดับเบิลเบส (Double bass) ประจำโรงละคร เมืองฮามบวร์ก ในวัยเด็กบราห์มส์แสดงให้พ่อเห็นพรสวรรค์ทางดนตรีพออายุราว ๆ 5-6 ขวบพ่อก็เริ่มสอนดนตรีเบื้องต้นให้ ครอบครัวของเขาค่อนข้างยากจนพ่อและแม่ต้องดิ้นรน และประหยัดเพื่อหาครูที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้มาสอนเปียโนและการประพันธ์ดนตรีให้แก่ลูกน้อยพ่อเองเคยได้รับบทเรียนมาก่อนเมื่อถูกกีดกันไม่ให้เรียนดนตรีในวัยเด็กต้องแอบฝึกซ้อมเอาเองเท่าที่โอกาสด้วยความที่พ่อเองรักดนตรีและบราห์มส์ก็ชอบดนตรีอย่างพ่อ พ่อจึงสนับสนุนอย่างเต็มที่แม่เองก็เป็นคนที่รักดนตรีเช่นกันดังนั้นเขาจึงไม่มีอุปสรรคในเรื่องการเรียนดนตรีมีก็แต่ความขัดสนเรื่องเงิน อย่างไรก็ตามเพื่อให้ความหวังเป็นจริงพ่อจึงคิดหารายได้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่จึงแยกตัวออกจากวงออร์เคสตร้ามาตั้งวงขนาดย่อม ๆ แบบวงดนตรีเชมเบอร์ มิวสิก (Chamber Music) รับจ้างเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์, 2535 :176)

          บราห์มส์เรียนเปียโนกับ คอสเซ็ล (Cossel) เมื่ออายุ 8 ขวบ จากนั้นพออายุได้ 10 ขวบ ก็เปลี่ยนไปเรียนกับ มาร์กเซ็น (Marxsen) บราห์มส์ประพันธ์ดนตรีและรับจ้างเรียบเรียงแนวบรรเลงให้กับวงดนตรีเล็ก ๆ ตามร้านกาแฟและวงดนตรีของพ่อด้วย เขาเคยบอกว่ามีบ่อยครั้งที่คิดดนตรีขึ้นมาได้ระหว่างที่กำลังขัดร้องเท้าตอนเช้าตรู่ขณะที่คนอื่นยังไม่ตื่นMarion Bauer และ Ethel Peyser ได้กล่าวถึงผลงานและความสามารถของบราห์มส์ไว้ว่า “มันไม่ใช่ของง่ายที่จะเขียนถึงบราห์มส์โดยไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเกินความจิรง” หรือคำชื่นชมที่ว่า “ถ้าเราพูดถึงเชมเบอร์ มิวสิก (Chamber Music) เราต้องรับว่าเขาเข้าใจวิธีเขียนให้เหมาะสมกับเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงอย่างไม่มีใครทำได้ดีเท่าทั้งก่อนและหลังสมัยของ บราห์มส์” “ใครพบที่ไหนบ้างว่ามีไวโอลิน คอนแชร์โต้ (Violin Concerto) และเปียโน คอนแชร์โต้ (Piano Concerto) ที่สวยสดงดงามยิ่งกว่าของบราห์มส์”ที่ยกตัวอย่างข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นถึงความสามารถของบราห์มส์ว่าเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปและผลงานของเขาก็ยังถือว่าเป็นอมตะตลอดกาล ด้วยความที่บราห์มส์เป็นคนที่สุภาพถ่อมตัวมาก หากเขายังอยู่เขาคงป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ชนรุ่นหลัง ๆ ยกย่องชมเชยเขาเนื่องจากผลงานของบราห์มส์เขียนขึ้นมาด้วยความหวังผลประโยชน์ที่เป็นวัตถุ เขาคงจะพอใจที่มีคนเข้าใจเขาเช่นนี้ เพราะมันเป็นความจริงที่เขาเองคงอยากให้คนทั้งโลกรู้และปฏิบัติตาม


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          ผลงานดนตรีของบราห์มส์ส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นความรู้สึกอัดอั้นตันใจในความรัก ดนตรีของบราห์มส์ที่เด่นประกอบด้วย Four Ballades 1854, Cradle Song 1868, Symphony No.1 in Cm 1876, etc….



11. จอร์จ บิเซต์ (George Bizet, 1838-1875)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศส เกิดที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1838 พ่อเป็นครูสอนร้องเพลงและแม่เป็นนักเปียโนบิเซต์เรียนดนตรีโดยแม่เป็น ผู้สอนให้โดยการสอน เอ บี ซี ไปพร้อมกับสอน โด เร มี ฯลฯ บิเซต์ชอบดนตรีมาก เขาสามารถร้องเพลงที่ยากมากได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีช่วยในช่วงเด็ก สร้างความภาคภูมิใจและความประหลาดใจให้แก่ทั้งครอบครัวเป็นอย่างยิ่งจากความเก่งเกินกว่าเด็กอื่น ๆ ในขณะอายุเพียง 9 ขวบ พ่อแม่จึงส่งไปทดสอบเพื่อเรียนในสถาบันการดนตรี (Conservatory) จนสามารถผ่านการทดสอบ ซึ่งนับว่าเป็นกรณีพิเศษอย่างยิ่งที่สถาบันแห่งนี้รับนักศึกษาอายุ 9 ขวบ

          บิเซต์เป็นที่ชื่นชมยินดีของครูที่สอนเนื่องจากเขาเป็นคนที่สุขภาพดีหน้าตาดี อ่อนโยนด้วยมิตรภาพ ไม่อวดเก่งและอุปนิสัยดีซึ่งเป็นคุณสมบัติที่นักดนตรีในรุ่นหลัง ๆ น่าจะให้เป็นตัวอย่างเป็นอย่างยิ่งอายุ 18 ปี เขาก็ได้รับรางวัลปรีซ์ เดอ โรม (Prix de Rome) ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักประพันธ์ ดนตรีวัยรุ่นให้ได้เข้าไปอยู่ใน French Academy ในโรม อิตาลีเป็นการเจือจุนให้ได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการประพันธ์ดนตรีอย่างเดียว รางวัลนี้เป็นความฝันของนักศึกษาวิชาดนตรีในฝรั่งเศสทุกคน (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :170)

          บิเซต์เป็นนักเปียโนฝีมือดีแม้จะไม่ได้ออกแสดงต่อสาธารณะชน เขาสามารถหาเลี้ยงชีพได้ไม่ยากนักด้วยการรับสอนแต่บิเซต์มีความทะเยอทะยานที่จะมีชื่อเสียงในฐานะทั้งนักเปียโนและ นักประพันธ์ดนตรี บิเซต์ลองทำทุกอย่างเท่าที่มีโอกาสแม้แต่การเขียนคอลัมน์ดนตรี บทความชิ้นหนึ่งของเขาพูดถึงแฟชั่นและตัวการที่มีผลต่อวงการดนตรี เขาเขียนด้วยความรู้สึกอันดีประจำตัวเขามีใจความว่า “โลกเรามีดนตรีฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน ฮังการี โปแลนด์ และอีกมากมาย…..เรามีดนตรีอนาคต ดนตรีปัจจุบันและดนตรีในอดีต แล้วก็ยังมีดนตรีปรัชญา ดนตรีการเมือง และดนตรีที่พบใหม่ล่าสุด…..แต่สำหรับข้าพเจ้าดนตรีมีอยู่ 2 ชนิดเท่านั้น คือ ดนตรีดี กับดนตรีเลว”


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          ในชีวิตอันสั้นของบิเซต์ ผลงานชิ้นเอกคือดนตรีสำหรับอุปรากร สำหรับเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือ “คาร์เม็น” (Carmen) แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เขาถึงแก่กรรมก่อนที่จะได้เห็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของคาร์เม็น นอกจากนี้ก็มี The Girl from Arles (L' Arlesienne), The Pearl Fishers, The Fair Maid of perth บิเซต์ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1875 ที่กรุงปารีส เมื่ออายุเพียง 37 ปี





12. ปีเตอร์ อิลิช ไชคอฟสกี (PeterIlich Tchaikovsky,1840-1893)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวรัสเซียคนแรกที่เป็นที่รู้จักในวงการนานาชาติ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 5 คน ของ อิลยา เปโตรวิช ไชคอฟสกี (Ilya Petrovititch Tchaikovsky) และอเลกซานดรา (Alexandra) เกิดที่เมืองว็อทกินสค์ (Voltkinsk) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1840 เป็นผู้ประพันธ์เพลงยอดนิยมคนหนึ่งในบรรดาผู้ประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกดนตรีไชคอฟสกีเป็นคีตกวีที่แปลกไปกว่าท่านอื่น ๆ กล่าวคือทุกๆคนมักจะเรียนและเล่นดนตรีเก่งชนิดอัจฉริยะตั้งแต่อายุยังน้อยส่วนไชคอฟสกีมาเริ่มเรียนดนตรีจริงจังก็เมื่ออายุ 21 ปี เนื่องจากเขาต้องเรียนกฎหมาย ตามความต้องการของพ่อจนกระทั่งจบปริญญาตรีทางกฎหมาย และออกมาทำงานรับราชการในกระทรวงยุติธรรม แต่ด้วยความสนใจและความชอบซึ่งมีเป็นทุนอยู่แล้วไชคอฟสกีจึง หันเหชีวิตมาเรียนดนตรีอย่างจริงจังในสถาบันดนตรีแห่งเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในวิชาการเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตรา (Orchestration) เทคนิคการเล่นเปียโนและออร์แกน

          ชีวิตของไชคอฟสกีก็คงเหมือน ๆ กับคีตกวีคนอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป กล่าวคือมีทั้งสุขและทุกข์ระคนกันไปชีวิตเหมือนนิยายมากกว่าชีวิตจริง เพราะยามที่ตกอับจะมีกินก็เพียงประทังความหิว และมีที่อยู่อาศัยเพียงแค่ซุกหัวนอน ในยามเมื่อคนอื่นไม่เห็นคุณค่าผลงานของเขาก็ไม่มีค่าอะไร แต่ยังดีที่มีผู้ที่เห็นความสำคัญและคอยจุนเจือค้ำจุนเสมอมาอย่างแทบไม่น่าเชื่อเธอผู้นั้นก็คือ มาดามฟอน เมค (Nadezhda von Meck) เศรษฐีนีหม้ายผู้มั่งคั่ง เธอให้เงินสนับสนุนไชคอฟสกีโดยไม่เคยหวังผลตอบแทนใด ๆ เธอมีความสุขที่ได้มีโอกาสสนับสนุนผู้อื่นให้ทำงานที่เธออยากทำแต่ทำไม่ได้ เพราะเธอเคยใฝ่ฝันที่จะเป็นนักประพันธ์ดนตรีแต่ไม่สามารถทำได้ด้วยใจรักดนตรีในยามว่างจากภาระกิจเธอมักจะนั่งฟังดนตรีเสมอ ดั้งนั้นเธอจึงทดแทนส่วนนี้ด้วยการสนับสนุน ตามความเป็นจริงแล้วถ้าหากในโลกนี้มีคนดีอย่างมาดามฟอน เมค (Nadezhda von Meck) มาก ๆ คงเป็นการดีและทำให้คนในวงการดนตรีมีโอกาสผลิตผลงานที่ดีออกสู่สาธารณะชนมากขึ้น

          ไชคอฟสกีผู้ซึ่งในระหว่างที่มีชีวิตอยู่เขาไม่เคยได้รับเกียรติอย่างจริงจังจากชาวรัสเซียเลยตรงกันข้ามกับทางยุโรปและอเมริกานิยมชมชื่นในตัวเขามากขณะที่ชื่อเสียงกำลังโด่งดังอยู่นั้นเขาก็ด่วนจบชีวิตลงเสียก่อนซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่มากที่พยายามสร้างงานมากมายแต่บัดนี้เขาเป็นคีตกวีที่ชาวรัสเซียภูมิใจมากที่สุด (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :171)

          ไชคอฟสกีถึงแก่กรรมด้วยโรคอหิวาต์ซึ่งเกิดจากความไม่เฉลียวใจหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จไชคอฟสกีไปเปิดน้ำประปาที่ก๊อกมาดื่มโดยไม่ได้นำมาต้มเสียก่อน เพราะขณะนั้นที่เมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบริ์กมีโรคระบาดพอดีและมีคนคอยเตือนแล้ว ในที่สุดก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1893


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          ผลงานที่เด่นประกอบด้วย Romeo and Juliet : Fantasy Overture 1870, Swan lake 1875-76, Eugene Onegin:Waltz 1879, The Nutcracker-Nutcracker March 1892….





13. อันโทนิน ดวอชาค (Antonin Dvorak,1841-1904)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวโมฮีเมียน (เชคโกสโลวาเกีย) เกิดเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1841 ที่เมืองเนลาโฮเซเวส (Nelahozeves) บิดาชื่อฟรันซ์ ดวอชาค (Franz Dvorak) มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ดวอชาคเป็นผู้ประพันธ์เพลงในกลุ่มชาตินิยม ลักษณะที่สังเกตง่ายในดนตรีของดวอชาคนั้นก็เช่นเดียวกับดนตรีของบราห์มส์ (Brahms) และไชคอฟสกี (Tchaikovsky) ซึ่งอยู่ในสมัย โรแมนติกเช่นกันกล่าวคือมีลีลาที่ชวนให้ตื่นเต้นและการเรียบเรียงแนวบรรเลงสำหรับวงออร์เคสตราดีเลิศ

          ดวอชาคประพันธ์เพลงไว้เกือบทุกประเภทที่นิยมกันในสมัยโรแมนติก แต่ที่เด่นกลับเป็นงาน ในแบบบรรเลงมากกว่าแบบร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรเลงด้วยวงออร์เคสตราที่เรียกว่ “ออร์เคสทรัล มิวสิค” (Orchestral Music)


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          ผลงานที่เด่นประกอบด้วย Serenade for String in E : Moderato 1875, The Mother Stands Full of Sorrow 1876-80, Slavonic Dance No8 in G miner 1878, Symphony No.9 “From the New World : Largo”1892-95 etc..





14. จิอะโคโม ปุกชินี (Giacomo Puccini, 1858-1924)




          ผู้ประพันธ์เพลงชาวอิตาเลียน เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1858 ที่ลุคคา (Lucca) บิดาชื่อมิเชล ปุชชินี (Michele Puccini) ซึ่งเป็น นักออร์แกนและอัลบินา ปุกชินี (Albina Puccini) มีพี่สาว 4 คน และน้องสาว 1 คน พ่อถึงแก่กรรมเมื่อปุกชินีอายุเพียง 6 ขวบ แม่ก็เป็นผู้เลี้ยงดูเพียงลำพังด้วยพลังจิตอันแข็งแกร่ง แม่มักอบรมลูก ๆ อยู่ เสมอว่า “คนขี้ขลาดจะอยู่ในโลกด้วยความลำบาก” และจากคติของชาวอิตาเลียนที่ถือว่า “ลูกแมวก็ย่อมจะจับหนูได้” (The children of cats catch mice) จึงทำให้ทางราชการเมืองลุคคา ได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือครอบครัวของเขาโดยหวังว่าสักวันหนึ่งปุกชินี ต้องสามารถเป็นนักออร์แกนแทนพ่อของเขาได้

          จนเมื่อปุกชินีอายุได้ 14 ปีเขาก็สามารถเล่นออร์แกนตามโบสถ์ต่าง ๆ หลายแห่งได้ตลอดจนเล่นเปียโนตามสถานที่เต้นรำได้บ้าง พออายุได้ 19 ปีก็สามารถแต่งเพลงโมเต็ต (Motet)ได้ นอกจากนี้ยังได้ทำงานเป็นนักออร์แกนประจำอยู่ San Martino ในระหว่างที่เรียนไปด้วย

          ปุกชีนีเป็นคีตกวีที่มีความสามารถในด้านการประพันธ์อุปรากรโดยเฉพาะเรื่อง ลา โบแฮม (La Boheme) เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนอารมณ์อย่างแรงเพราะปุกชินีคิดเปรียบเทียบตัวเขาเองว่าคล้ายกับโรดอลโฟ (Rodolfo) พระเอกในเรื่อง พอเรื่องดำเนินถึงบทของมิมี (Mimi) นางเอกของเรื่องกำลังจะตายปุกชินีจะนั่งน้ำตาไหลเพราะมีอารมณ์คล้อยตามเรื่องไปด้วย

          ปุกชินีได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะต้องแต่งอุปรากรที่ทำความสั่นสะเทือนอารมณ์และความรู้สึกของคนทั่วทั้งโลกให้ได้เขาจึงศึกษาและอ่านหนังสือต่าง ๆ นับเป็นพัน ๆ เรื่อง แล้วเขาจึงแต่งมหาอุปรากรเรื่องทอสกา (Tosca) ขึ้น ทอสกาเป็นมหาอุปรากรสำคัญเรื่องหนึ่งของโลกได้นำออกแสดงครั้งแรกที่โรงละครเทียโตร กอสตันซี (Teatro Costanzi) ในกรุงโรม อิตาลี เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1900 และในปีเดียวกันก็นำไปแสดงที่นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ และใน นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นความสำเร็จอย่างน่าพอใจที่สุดสำหรับปุกชินี

          ในบั้นปลายชีวิตของปุกชีนีได้ใช้เวลาหาความสุขสำราญและพักผ่อนหย่อนใจอย่างเต็มที่และสนุกสนานอยู่กับการเล่นเรือยอร์ชการขับรถยนต์คันใหม่ ๆ ใช้เสื้อผ้าราคาแพง ๆ แต่เขาก็สนุกเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ไม่นานนักก็เบื่อ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ใจเขาไม่สบายคือเรื่องผมหงอกของเขาและเขาก็พยายามย้อมให้ดำอยู่เสมอขณะอายุ 66 ปี หมอได้ตรวจพบว่าเขาเป็นมะเร็งในหลอดลมจึงเข้ารับการผ่าตัด เมื่อการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วโรคหัวใจก็ตามมาอีก ปุกชีนี ถึงแก่กรรมในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1924 ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม


ผลงานที่มีชื่อเสียง

          ผลงานที่สำคัญของปุกชีนี ประกอบด้วย Manon Lescaut, La Boheme, Tosca, Madama Butterfly และ Turandot เสร็จสมบูรณ์โดย Franco Alfano หลังปุกชินีถึงแก่กรรม นอกจากนี้โอเปร่าชวนหัวองค์เดียวจบ เรื่อง Gianni Schicchi เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นิยมแสดงเสมอ ปุกชินีเป็นผู้หนึ่งที่เน้นการประพันธ์โอเปร่าในแนวชีวิตจริงด้วยการเน้นสถานการณ์และความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์เป็นหลักของการดำเนินเรื่องราว


15. ซีเบลิอุส (Jean Sibelius ค.ศ. 1865 - 1957)







ที่มา : http://www.ebook.mtk.ac.th/main/forum_posts.asp?TID=1966
ที่มา : http://student.nu.ac.th/pick_ed/LESSON7.htm